Jul 25, 2014

เตรียมตัวสอบ CU BEST

สำหรับใครก็ตามที่ตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาโทMBAที่จุฬาฯ ล้วนแล้วต้องผ่านการสอบCU-BESTมาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะในหลักสูตร YMBA ที่จะขอพูดถึงในวันนี้



สำหรับหลักสูตร ymbaของที่นี่ ทำไมคะแนนCU BEST ถึงมีความหมายมาก ก็เพราะว่ามีผู้คนจำนวนมากต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ ฉะนั้นวิธีการคัดคนเข้าสัมภาษณ์ในขั้นต้นก็เลยนำคะแนนCU BESTของผู้สมัครทั้งหมดมาเรียงลำดับ แล้วตัดจำนวนที่ต้องการเรียกเข้าสัมภาษณ์จากคะแนนสูงสุดลงไป ยกตัวอย่าง รุ่น21/1 (คือเป็นรุ่นปี57ล่าสุดนี่เอง ส่วนที่เป็น/1คือเรียนเสาร์-อาทิตย์ ถ้า/2คือเรียนวันธรรมดา) คะแนนCU BESTขั้นต่ำที่เรียกเข้าสัมภาษณ์คือ342คะแนน คือใครได้น้อยกว่านี้ก็จะไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ โดยจะเรียกสัมภาษณ์ประมาณร้อยกว่าคน และจะมีเพียง100คนที่ถูกเลือกให้เข้าเรียนymba ฉะนั้นคะแนนCU BESTจึงมีความสำคัญมากเป็นอันดับแรกสุด เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะมีโอกาสได้เข้ามาเรียนymbaรึเปล่า

หมายเหตุ หลักสูตรอื่นๆที่ใช้คะแนนCU BESTจะไม่ได้ใช้คะแนนสูงเท่าหลักสูตรนี้


ข้อสอบCU BESTถือว่าเป็นข้อสอบที่วัดความสามารถทางการคำนวณและวิเคราะห์ที่(โหด)ดี เนื่องจากการให้คะแนนคือข้อไหนตอบถูกได้5คะแนน ผิดติดลบ2 ไม่ตอบได้0 ตอบเกิน1คำตอบติดลบ5 ฉะนั้นจึงไม่มีคำว่าเดาถูกได้(คะแนนสูง)มา เนื่องจากหากไม่มั่นใจจริงๆ และไม่ได้เป็นพวกชอบเสี่ยงขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไม่ตอบคำตอบข้อนั้นจะดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่เสียคะแนนหากตอบผิด ต่างจากการสอบปกติที่บางทีเราเดามั่วๆ หรือเดาข้อที่โอกาสถูกสูง แล้วมันก็ดันถูกได้คะแนนง่ายๆซะอย่างนั้น

ดังนั้นจึงมีผู้คนมากมายที่ตั้งใจจะเข้าเรียนหลักสูตรymba chula แต่แล้วก็ต้องถอยไปเรียนที่อื่น หรือไปเรียนหลักสูตรอื่นแทน เนื่องจากไม่ได้เข้าง่ายขนาดนั้น แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์แน่นอน อย่างเราใช้เวลาเตรียมตัวประมาณเดือนนึง ก็สอบได้เกือบ390คะแนนในการสอบครั้งแรก แน่นอนว่ามีคนได้เยอะกว่านี้ คะแนนเราอาจจะกลางๆแต่ก็ถือว่าน่าจะพอเพียงแล้วสำหรับการยื่นคะแนนเข้าเรียนymba ต่อไปนี้จะขอแชร์เทคนิคและประสบการณ์ส่วนตัว เผื่อจะมีประโยชน์ต่อใครบ้างไม่มากก็น้อย

เตรียมตัว
รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง
ข้อสอบCU BEST จะะแบ่งเป็น2พาร์ท พาร์ทแรกวิเคราะห์ พาร์ทที่สองเป็นคณิตศาสตร์ พาร์ทละ50ข้อ 

ก่อนอื่นเลยสิ่งที่ต้องทำคือซื้อหนังสือที่เป็นแนวข้อสอบมาลองทำหรือจะยืมตามห้องสมุดก็ได้ อย่างที่เราใช้คือของดร.กิตติ์ จิรติกุล เล่มนี้

อีกเล่มที่คิดว่าโอเค คล้ายๆกันเลย คือของ CU BEST Club แต่เราใช้เล่มเก่าที่ยังมีพาร์ทไอคิวอยู่ เล่มสีเขียวอันนี้อัพเดทใหม่

2เล่มนี้ถามว่าเหมือนกับข้อสอบจริงเลยมั้ยเราว่าไม่ แต่ถือเป็นแนวข้อสอบที่ดี ถ้าผ่าน2เล่มนี้ไปได้ ก็ไม่มีอะไรยากไปกว่านี้แล้ว คืออย่างน้อยๆก่อนไปสอบเราว่าควรทำข้อสอบสัก4ชุด(คือซื้อมาเล่มใดเล่มหนึ่ง)หรือให้ดีก็8ชุด(ซื้อทั้งสองเล่ม)จะชัวร์กว่า เริ่มต้นเลย ทำข้อสอบชุดแรก ควรจับเวลา3ชั่วโมงแล้วทำเสมือนสอบจริงๆเลย เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละพาร์ทข้อสอบแนวๆไหน แล้วเรามีจุดอ่อนตรงไหน อะไรที่เราลืมแล้วต้องกลับไปทวนบ้าง ทำชุดแรกเสร็จก็ตรวจกับเฉลยดู แน่นอนในการทดสอบครั้งนี้คะแนนอาจจะกากหน่อยหากเราทิ้งร้างสิ่งเหล่านี้มานานจนลืม แต่ก็จะเห็นได้ว่าเราต้องกลับไปทวนตรงไหนบ้าง จากนั้นเก็บข้อสอบชุดที่เหลือไว้ก่อน แล้วก็กลับไปทบทวนของเก่าทั้งหมดที่เราไม่แม่นให้แม่นก่อน ค่อยกลับมาทำข้อสอบใหม่ต่อในชุดที่เหลือ

พาร์ทคณิตศาตร์
การทบทวนคณิตศาสตร์ของเก่า เราสามารถเสิร์ชหาในเน็ตได้ มีให้เรียนฟรีโหลดฟรีอยู่หลายเว็บมากมาย แต่ต้องระวังข้อสอบบางที่ที่ให้โหลดมาทำฟรี อาจจะมีการเฉลยผิด อันนี้ก็ต้องดูแหล่งที่มาด้วย เลือกนิดนึง ทุกหัวข้อที่เราไม่แม่น ต้องหาแบบฝึกหัดมาทำเยอะๆ อาจจะเริ่มจากง่ายๆเพื่อปูพื้นให้แน่น แล้วค่อยไปทำแบบที่ยากขึ้นๆ ทำแบบนี้ในทุกๆหัวข้อ อย่าเพิ่งท้อแท้ อย่าคิดว่าเสียเวลา อย่าขี้เกียจ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆอยู่แล้ว อยากได้คะแนนเยอะก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น

สำหรับเราซึ่งมีเวลาเตรียมตัวก่อนการสอบประมาณเดือนนึง การทบทวนนี้เราใช้เวลาช่วงกลางคืน คืนละประมาณ3ชั่วโมง 4-5คืนต่อสัปดาห์ (เนื่องจากวันอื่นๆที่เหลือเราต้องเอาไปทบทวนอย่างอื่นแล้วก็มีคืนพักผ่อนด้วยเพื่อไม่ให้คร่ำเครียดเกินไป) อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่การจัดสรรเวลาของแต่ละบุคคล จากนั้นเมื่อแม่นครบทุกหัวข้อที่ต้องใช้สอบแล้ว เราจึงหยิบข้อสอบชุดที่เหลือมาจับเวลาทำอีกทีละชุด แล้วเมื่อเจอข้อที่ผิดหรือข้อที่เราเว้นไม่ตอบ เราก็จะรีบไปทวนหัวข้อนั้นให้แม่นยิ่งขึ้น ก่อนจะไปจับเวลาทำข้อสอบชุดถัดๆไป ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มทำข้อสอบได้คล่องขึ้น เร็วขึ้น และถูกมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

พาร์ทวิเคราะห์
ในส่วนของพาร์ทวิเคราะห์ ซึ่งเราได้คะแนนน้อยอย่างสม่ำเสมอในการทดลองทำข้อสอบ(ไม่ว่าจะกี่ชุดก็ตาม) ในส่วนนี้เราก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำยังไงคะแนนมันจะสูงได้เพราะเป็นพาร์ทที่ไม่ถนัด แต่หลังจากทดลองทำข้อสอบไปเรื่อยๆเราก็ค้นพบว่า ในส่วนของบทความยาวๆ (ซึ่งจะอยู่ประมาณ25ข้อหลังในพาร์ทวิเคราะห์) ข้อสอบมักจะง่ายและไม่ได้ต้องคิดวิเคราะห์อะไรมากมาย คำถามที่ถามก็มีคำตอบอยู่ในบทความชัดเจน ในขณะที่ข้อแรกๆมักจะเป็นบทความสั้นๆ แต่บางทีเราก็วิเคราะห์ผิดทาง ตอบผิดได้คะแนนติดลบเป็นส่วนมาก เลยพยายามไม่ตอบถ้ารู้สึกไม่มั่นใจ

หาจุดอ่อน จุดแข็งตัวเรา แล้ววางแผนการทำข้อสอบ
หลังจากทดลองทำข้อสอบไปเรื่อยๆแล้ว เราก็จะรู้จักตัวเองว่าเราถนัดอะไรมากกว่ากัน หากมั่นใจเลขมากกว่าก็จงทำพาร์ทคณิตศาสตร์ก่อนเสมอ หากมั่นใจพาร์ทวิเคราะห์ ก็ควรทำพาร์ทวิเคราะห์ก่อน เพื่อเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุดในส่วนที่ถนัด ควรจะทำแบบนี้ให้ชินตั้งแต่ตอนลองทำชุดข้อสอบที่บ้านเลย วันสอบจริงจะได้ชินมือว่าจะเปิดไปทำตรงไหนก่อนหลัง ส่วนตัวเราถนัดทำเลขก่อน เนื่องจากเรามองว่าวิชาเลขนั้น คำตอบที่ถูกต้องจะมีแค่คำตอบเดียวเสมอ ฉะนั้นหากวิธีคิดถูกต้อง คำตอบก็ย่อมถูกอย่างแน่นอน และหลังจากจบการทำพาร์ทนี้ เรามักจะดูเวลา กะคร่าวๆคือใช้ไม่ให้เกินชั่วโมงครึ่ง แต่ในวันสอบจริงเราใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ เลยมีเวลาเหลือเกือบสองชั่วโมงสำหรับพาร์ทวิเคราะห์ที่เราไม่ถนัดเท่าไร สงสัยเพราะให้เวลากับมันเต็มที่ ผลออกมาเลยคะแนนดีกว่าพาร์ทเลขแฮะ

ส่วนที่เป็นเลข ข้อไหนดูแล้วรู้สึกเลยว่าเสียเวลาคิดคำนวณนานเกินกว่า1นาทีแน่ๆ ให้ข้ามไปเลย อย่าเสียเวลา ไว้กลับมาทำทีหลังดีกว่าถ้ามีเวลาเหลือ ข้อไหนที่คิดออกมาแล้วไม่มีคำตอบ ลองอ่านโจทย์ดีๆ บางทีดูตัวเลขผิดไป แทนค่าผิด หรือลองดูวิธีทำของตัวเองคร่าวๆอีกรอบว่าใส่ตัวเลขตรงไหนผิดไปมั้ย ถ้าไม่ผิด ก็ข้ามไปก่อน อย่าไปเลือกข้อที่คำตอบใกล้เคียง เพราะอาจจะไม่ถูกต้องแล้วจะเพิ่มคะแนนติดลบไปเปล่าๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังที่สุดในพาร์ทเลขคือ เมื่อทำแล้วจะรู้สึกว่าทำได้ มีคำตอบ แต่จริงๆแล้วโดนหลอก ก็จะติดลบคะแนนไปตามระเบียบ จะระวังการโดนหลอกยังไง ก็ได้ด้วยก็คือการทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ โดนหลอกบ่อยๆ ก็จะรู้เองว่าโจทย์แบบไหนที่ตั้งใจมาหลอกเรา

พาร์ทวิเคราะห์ ถ้าอ่านดูแล้วรู้สึกว่าไม่มั่นใจว่าคำตอบไหนแน่ๆ ปล่อยว่างไปเลยดีกว่า อย่าฝืนตอบ แต่ข้อไหนมั่นใจชัวร์ๆ ค่อยตอบ อย่ามั่วเด็ดขาด การมั่ว การเดา การคิดไปเอง คือหนทางแห่งหายนะ ง่ายๆคือถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราเลือกคำตอบไปแล้วว่าจะตอบอันนี้แต่ใจลึกๆเราแอบลังเล หรือฝนคำตอบไปแล้วรู้สึกกังวลใจ ให้กลับไปลบทิ้งดีกว่า "ไม่มั่นใจอย่าตอบ" ที่สำคัญอย่าเพิ่งคิดว่าไม่ถนัดวิเคราะห์แล้วจะทำได้ไม่ดี เพราะเราก็ไม่ถนัดเลย ตอนทดลองทำข้อสอบออกมาก็ได้คะแนนประมาณร้อยกว่าตลอด สอบจริงได้ประมาณ2ร้อยนิดๆ โดยเราเลือกทำบทความยาวๆก่อนเสมอ เพราะส่วนตัวเราคิดว่าทำคะแนนได้ง่ายกว่าบทความสั้นๆ ซึ่งมักจะหลอกให้เรางงและตอบผิดบ่อยๆ

สมาธิสั้นก็เป็นอีกสาเหตุของเราที่ทำให้ตอนเราทดลองสอบ ทำข้อสอบแล้วไม่ค่อยมีสมาธิต่อเนื่องยาวๆ ทำแล้วก็คิดเรื่องนู้นนี่ ใจไม่จดจ่อกับบทความเลยอ่านไม่รู้เรื่อง ทำเลขแล้วก็ไปคิดเรื่องอื่นกลับมาทำต่อก็มึนงง เสียเวลาไปฟรีๆ บางครั้งเราเลยแยกการสอบเป็นวันละชั่วโมงครึ่ง2วันติดกันแทนที่จะยาว3ชั่วโมงรวด แต่เราว่าวิธีแยกแบบนี้ไม่เวิคอย่างยิ่ง เพราะถึงเวลาจริง เราก็ต้องทำข้อสอบติดกัน3ชั่วโมงอยู่ดี วิธีฝึกสมาธิง่ายๆของเราคือการสวดมนต์ ไม่ได้เยอะอะไรมาก ตอนเช้าถ้ามีเวลาเราก็สวดมนต์ทำวัตรเช้าก่อนไปทำงาน หรือตอนเย็นกลับมาบ้านถ้ามีเวลาก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น ใช้เวลาวันละนิด ไม่น่าเชื่อว่าสมาธิเราดีขึ้นมาก ตอนนี้แม้ไม่ได้สอบแล้วเราก็ยังสวดต่อ

ก่อนวันสอบจริง
ช่วง2-3วันก่อนสอบเราจะพักสมอง คือไม่ทำข้อสอบไม่ทวนไม่อะไรแล้ว(แต่ก็ทวนจบหมดแล้วนะ) เอาเวลาไปนั่งอ่านหนังสืออ่านเล่นบ้าง ดูหนังบ้าง อ่านการ์ตูนบ้าง คุยกับเพื่อนบ้าง เนื่องจากเราเชื่อว่าวิชาเลขมันเป็นอะไรที่ใช้ความเข้าใจอยู่แล้ว ไม่ต้องท่องจำอะไร ปล่อยให้สมองได้พักก่อนเจอศึกหนักบ้างดีกว่า

คืนวันก่อนสอบ
เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องสอบให้พร้อม
1.ปากกา ใช้เขียนชื่อในกระดาษคำตอบ และไว้เซ็นชื่อ
2.ดินสอกดแบบ2B ใส่ไส้สำรองไว้ให้เรียบร้อย เผื่อว่าไส้ดินสอหมดจะได้ไม่ต้องมานั่งใส่ให้เสียเวลา
3.ยางลบ
4.บัตรประชาชน
5.เสื้อกันหนาว (ถ้าขี้หนาวก็มีไว้ดีกว่าไม่มี)
6.เตรียมชุดสุภาพที่จะใส่ไปให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องมาหาตอนเช้าให้เสียเวลา
แล้วนอนแต่หัวค่ำเพื่อจะได้มีพลังเต็มที่ในวันสอบ

วันสอบ
- ควรกินข้าวเช้าให้พอเหมาะ อย่าน้อยเกินไปเดี๋ยวจะหิวตอนสอบ อย่ากินพวกที่เสี่ยงต่อการท้องเสีย
- ควรหาเวลาว่างสัก15นาทีในที่เงียบๆและขณะสมองปลอดโปร่ง เอาshort noteมาทวนสักรอบนึง ไม่ว่าจะในส่วนของสูตรคำนวณ หรือหลักการอ่านพวกบทความ สมมติฐาน บทสรุป ตั้งชื่อเรื่อง ฯลฯ
- อย่าฟังเพลงแม้ตอนอาบน้ำหรือขับรถ คือถ้าเราฟังเพลงอะไรไปสักพักแล้วเพลงบางท่อนมันจะชอบหลอนในหัวเราไปอีกสักพักใหญ่ๆ ทำให้เช้าวันสอบเราเลยบังคับตัวเองให้ฟังดนตรีคลาสสิคอย่างเดียว พวกโมซาร์ท, เซอร์เก รัคมานินอฟ อะไรแบบนี้จะไม่ส่งผลหลอนในหัวเรา
- ไปให้ถึงก่อนสอบสักครึ่งชั่วโมงอย่างน้อย เผื่อเวลาดีกว่าไปสาย โดยเฉพาะผู้ที่เอารถไป เพราะทุกคนก็แห่ไปแย่งกันจอดรถที่จามจุรีสแควร์ ขากลับก็แย่งกันออก
- พกทิชชู่ไปด้วย ห้องน้ำบนตึกไม่มีทิชชู่ให้ (ตึกมหิตลาธิเบศร์) ห้องน้ำผู้หญิงคิวยาวมาก และหลังเข้าห้องน้ำแล้วไม่ควรกินน้ำเยอะ สอบเสร็จค่อยกิน
- กระเป๋าของทุกคน จนท.จะให้วางหน้าห้อง ฉะนั้นอย่าพกของมีค่าไป อย่าลืมเอาบัตรประชาชนไปที่โต๊ะสอบด้วย
- นาฬิกาในห้องสอบมีบอกที่สไลด์ใหญ่หน้าห้อง แต่ใส่นาฬิกาไปด้วยเพื่อความชัวร์ดีกว่า
- อย่าไปสนใจคนอื่นรอบข้างหรือเสียงอะไรก็ตาม สนใจแต่ข้อสอบตรงหน้าและอยู่กับมันจนจบ3ชั่วโมงก็พอ
- แม้ว่าจะเหลือเวลาแค่1นาทีก็อย่าตื่นเต้น ทำใจสบายๆลองอ่านข้อสอบดีๆ เพราะว่า1นาทีสุดท้ายของเราตอบได้อีก2ข้อเลยทีเดียว (เป็น2ข้อที่ค่อนข้างมั่นใจว่าถูก และเป็นการกลับมาอ่านข้อเก่าที่ข้ามไปทีแรก)
- อย่าหลงเชื่อจนท.ที่บอกว่าจะหมดเวลาแล้วให้รีบกาข้อสอบให้หมด เราคิดว่าจนท.ไม่รู้ว่ามันมีติดลบคะแนนด้วย

ขอให้ทุกคนโชคดี

No comments:

Post a Comment