Oct 14, 2014

คำสารภาพ - confession


เป็นหนังสือที่หน้าปกไม่ดึงดูดเอาซะเลย แต่พอเห็นว่าเป็นหนังสือที่เอามาทำหนังเรื่องconfessionนั่นเอง ก็เลยเอามาลองอ่านฆ่าเวลาซะหน่อย พูดถึงตัวหนังก่อน ยังไม่ได้ดู แต่รู้เรื่องย่อคร่าวๆ คิดว่ายังไงซะหนังสือน่าจะดีกว่าหนัง (เมื่อคิดถึงหนังหลายๆเรื่องที่ทำจากหนังสือทำเราผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า) พอเปิดอ่านไปได้2-3หน้าเท่านั้นแหละ โคตรสนุกเลย วางไม่ลงจริงๆ ทั้งๆที่ก็ไม่ได้ว่างอ่านได้ตลอด แต่ว่างเมื่อไรก็หยิบมาอ่าน จนใช้เวลาไม่ถึง1วันก็อ่านจบ สนุกมาก ทั้งเนื้อเรื่อง ทั้งการเล่าเรื่อง ทำได้ดีมากๆ

สไตล์การเล่าเรื่องของเล่มนี้แตกต่างจากนิยายแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องอื่นที่อ่านมาเกือบทั้งหมด แต่แบบนี้ก็ชอบนะ ฉีกแนวได้ดี และเขียนเข้าถึงตัวละครแต่ละตัวได้ลึกและค่อนข้างสมจริงในด้านการแสดงความรู้สึก ความคิด การกระทำ ทุกๆบรรทัดที่อ่าน มันทำให้เราเข้าใจในตัวละครแต่ละตัวมากซะจนรู้สึกเหมือนเราเป็นตัวละครตัวนั้นๆเองเลยด้วยซ้ำ

เป็นนิยายแปลจากภาษาญี่ปุ่นที่อยากแนะนำให้ทุกคนในโลกได้อ่าน เพราะเรื่องมันเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีช่วงเนือยๆนิ่งๆแบบสไตล์ญี่ปุ่นให้เห็นเลย หลังจากนี้คงต้องไปหาหนังมาดูต่อ เพื่อเติมเต็มจินตนาการให้ครบสมบูรณ์


"เธอจะตอบแทนความเกลียดชังด้วยความเกลียดชังไม่ได้หรอกนะ เพราะการกระทำอย่างนั้นจะไม่มีวันช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งอย่างเด็ดขาด"

Jul 29, 2014

Kit Kat อบรสพุดดิ้ง

มีโอากาสได้ลองทำ Kit Kat อบรสพุดดิ้งกิน หลังจากได้เห็นมาสักพักแล้วก็สงสัยใคร่รู้ในรสชาติมาก


หน้าตาถุงเป็นแบบนี้ ในถุงจะมีคิทแคทขนาดมินิ 13ชิ้น ราคากี่เยนก็ไม่รู้ พี่สาวซื้อมาฝากจากญี่ปุ่น วิธีทำแสนง่าย แกะคิทแคทออกจากห่อ มาวางบนถาด หน้าตาเหมือนคิทแคททั่วๆไป แอบงงเล็กน้อยว่ามันจะอบได้หรือ


จากนั้นก็ตั้งอุณหภูมิเตาอบ 200องศา เปิดไฟบนไฟล่าง แล้วก็ใส่เตาอบซะ


รอประมาณ2นาทีก็จะเห็นด้านบนมันเริ่มเกรียมขึ้นๆ พอ2นาทีกว่าๆก็เอาออกจากเตาได้ ก็จะได้คิทแคทออกมาเหมือนที่โฆษณาไว้เลย หน้าตาเปลี่ยนไปมากจากตอนแกะออกจากห่อ



รสชาติพอกินแล้วก็แปลกดี มันก็ฟีลลิ่งช็อกโกแลตอะนะ แต่มันร้อนแล้วก็หวาน ฟีลลิ่งแบบว่าเนยมากอ่ะ อธิบายไม่ถูก โดยรวมก็ถือว่าโอเคนะ หวานไปหน่อยตามสไตล์ ถ้าเบื่อคิทแคทแบบช็อกโกแลตธรรมดา มาลองอันนี้ก็ไม่เสียหายอะไร

Jul 25, 2014

เตรียมตัวสอบ CU BEST

สำหรับใครก็ตามที่ตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาโทMBAที่จุฬาฯ ล้วนแล้วต้องผ่านการสอบCU-BESTมาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะในหลักสูตร YMBA ที่จะขอพูดถึงในวันนี้



สำหรับหลักสูตร ymbaของที่นี่ ทำไมคะแนนCU BEST ถึงมีความหมายมาก ก็เพราะว่ามีผู้คนจำนวนมากต้องการเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ ฉะนั้นวิธีการคัดคนเข้าสัมภาษณ์ในขั้นต้นก็เลยนำคะแนนCU BESTของผู้สมัครทั้งหมดมาเรียงลำดับ แล้วตัดจำนวนที่ต้องการเรียกเข้าสัมภาษณ์จากคะแนนสูงสุดลงไป ยกตัวอย่าง รุ่น21/1 (คือเป็นรุ่นปี57ล่าสุดนี่เอง ส่วนที่เป็น/1คือเรียนเสาร์-อาทิตย์ ถ้า/2คือเรียนวันธรรมดา) คะแนนCU BESTขั้นต่ำที่เรียกเข้าสัมภาษณ์คือ342คะแนน คือใครได้น้อยกว่านี้ก็จะไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ โดยจะเรียกสัมภาษณ์ประมาณร้อยกว่าคน และจะมีเพียง100คนที่ถูกเลือกให้เข้าเรียนymba ฉะนั้นคะแนนCU BESTจึงมีความสำคัญมากเป็นอันดับแรกสุด เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะมีโอกาสได้เข้ามาเรียนymbaรึเปล่า

หมายเหตุ หลักสูตรอื่นๆที่ใช้คะแนนCU BESTจะไม่ได้ใช้คะแนนสูงเท่าหลักสูตรนี้


ข้อสอบCU BESTถือว่าเป็นข้อสอบที่วัดความสามารถทางการคำนวณและวิเคราะห์ที่(โหด)ดี เนื่องจากการให้คะแนนคือข้อไหนตอบถูกได้5คะแนน ผิดติดลบ2 ไม่ตอบได้0 ตอบเกิน1คำตอบติดลบ5 ฉะนั้นจึงไม่มีคำว่าเดาถูกได้(คะแนนสูง)มา เนื่องจากหากไม่มั่นใจจริงๆ และไม่ได้เป็นพวกชอบเสี่ยงขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไม่ตอบคำตอบข้อนั้นจะดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่เสียคะแนนหากตอบผิด ต่างจากการสอบปกติที่บางทีเราเดามั่วๆ หรือเดาข้อที่โอกาสถูกสูง แล้วมันก็ดันถูกได้คะแนนง่ายๆซะอย่างนั้น

ดังนั้นจึงมีผู้คนมากมายที่ตั้งใจจะเข้าเรียนหลักสูตรymba chula แต่แล้วก็ต้องถอยไปเรียนที่อื่น หรือไปเรียนหลักสูตรอื่นแทน เนื่องจากไม่ได้เข้าง่ายขนาดนั้น แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์แน่นอน อย่างเราใช้เวลาเตรียมตัวประมาณเดือนนึง ก็สอบได้เกือบ390คะแนนในการสอบครั้งแรก แน่นอนว่ามีคนได้เยอะกว่านี้ คะแนนเราอาจจะกลางๆแต่ก็ถือว่าน่าจะพอเพียงแล้วสำหรับการยื่นคะแนนเข้าเรียนymba ต่อไปนี้จะขอแชร์เทคนิคและประสบการณ์ส่วนตัว เผื่อจะมีประโยชน์ต่อใครบ้างไม่มากก็น้อย

เตรียมตัว
รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง
ข้อสอบCU BEST จะะแบ่งเป็น2พาร์ท พาร์ทแรกวิเคราะห์ พาร์ทที่สองเป็นคณิตศาสตร์ พาร์ทละ50ข้อ 

ก่อนอื่นเลยสิ่งที่ต้องทำคือซื้อหนังสือที่เป็นแนวข้อสอบมาลองทำหรือจะยืมตามห้องสมุดก็ได้ อย่างที่เราใช้คือของดร.กิตติ์ จิรติกุล เล่มนี้

อีกเล่มที่คิดว่าโอเค คล้ายๆกันเลย คือของ CU BEST Club แต่เราใช้เล่มเก่าที่ยังมีพาร์ทไอคิวอยู่ เล่มสีเขียวอันนี้อัพเดทใหม่

2เล่มนี้ถามว่าเหมือนกับข้อสอบจริงเลยมั้ยเราว่าไม่ แต่ถือเป็นแนวข้อสอบที่ดี ถ้าผ่าน2เล่มนี้ไปได้ ก็ไม่มีอะไรยากไปกว่านี้แล้ว คืออย่างน้อยๆก่อนไปสอบเราว่าควรทำข้อสอบสัก4ชุด(คือซื้อมาเล่มใดเล่มหนึ่ง)หรือให้ดีก็8ชุด(ซื้อทั้งสองเล่ม)จะชัวร์กว่า เริ่มต้นเลย ทำข้อสอบชุดแรก ควรจับเวลา3ชั่วโมงแล้วทำเสมือนสอบจริงๆเลย เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละพาร์ทข้อสอบแนวๆไหน แล้วเรามีจุดอ่อนตรงไหน อะไรที่เราลืมแล้วต้องกลับไปทวนบ้าง ทำชุดแรกเสร็จก็ตรวจกับเฉลยดู แน่นอนในการทดสอบครั้งนี้คะแนนอาจจะกากหน่อยหากเราทิ้งร้างสิ่งเหล่านี้มานานจนลืม แต่ก็จะเห็นได้ว่าเราต้องกลับไปทวนตรงไหนบ้าง จากนั้นเก็บข้อสอบชุดที่เหลือไว้ก่อน แล้วก็กลับไปทบทวนของเก่าทั้งหมดที่เราไม่แม่นให้แม่นก่อน ค่อยกลับมาทำข้อสอบใหม่ต่อในชุดที่เหลือ

พาร์ทคณิตศาตร์
การทบทวนคณิตศาสตร์ของเก่า เราสามารถเสิร์ชหาในเน็ตได้ มีให้เรียนฟรีโหลดฟรีอยู่หลายเว็บมากมาย แต่ต้องระวังข้อสอบบางที่ที่ให้โหลดมาทำฟรี อาจจะมีการเฉลยผิด อันนี้ก็ต้องดูแหล่งที่มาด้วย เลือกนิดนึง ทุกหัวข้อที่เราไม่แม่น ต้องหาแบบฝึกหัดมาทำเยอะๆ อาจจะเริ่มจากง่ายๆเพื่อปูพื้นให้แน่น แล้วค่อยไปทำแบบที่ยากขึ้นๆ ทำแบบนี้ในทุกๆหัวข้อ อย่าเพิ่งท้อแท้ อย่าคิดว่าเสียเวลา อย่าขี้เกียจ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆอยู่แล้ว อยากได้คะแนนเยอะก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น

สำหรับเราซึ่งมีเวลาเตรียมตัวก่อนการสอบประมาณเดือนนึง การทบทวนนี้เราใช้เวลาช่วงกลางคืน คืนละประมาณ3ชั่วโมง 4-5คืนต่อสัปดาห์ (เนื่องจากวันอื่นๆที่เหลือเราต้องเอาไปทบทวนอย่างอื่นแล้วก็มีคืนพักผ่อนด้วยเพื่อไม่ให้คร่ำเครียดเกินไป) อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่การจัดสรรเวลาของแต่ละบุคคล จากนั้นเมื่อแม่นครบทุกหัวข้อที่ต้องใช้สอบแล้ว เราจึงหยิบข้อสอบชุดที่เหลือมาจับเวลาทำอีกทีละชุด แล้วเมื่อเจอข้อที่ผิดหรือข้อที่เราเว้นไม่ตอบ เราก็จะรีบไปทวนหัวข้อนั้นให้แม่นยิ่งขึ้น ก่อนจะไปจับเวลาทำข้อสอบชุดถัดๆไป ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มทำข้อสอบได้คล่องขึ้น เร็วขึ้น และถูกมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

พาร์ทวิเคราะห์
ในส่วนของพาร์ทวิเคราะห์ ซึ่งเราได้คะแนนน้อยอย่างสม่ำเสมอในการทดลองทำข้อสอบ(ไม่ว่าจะกี่ชุดก็ตาม) ในส่วนนี้เราก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำยังไงคะแนนมันจะสูงได้เพราะเป็นพาร์ทที่ไม่ถนัด แต่หลังจากทดลองทำข้อสอบไปเรื่อยๆเราก็ค้นพบว่า ในส่วนของบทความยาวๆ (ซึ่งจะอยู่ประมาณ25ข้อหลังในพาร์ทวิเคราะห์) ข้อสอบมักจะง่ายและไม่ได้ต้องคิดวิเคราะห์อะไรมากมาย คำถามที่ถามก็มีคำตอบอยู่ในบทความชัดเจน ในขณะที่ข้อแรกๆมักจะเป็นบทความสั้นๆ แต่บางทีเราก็วิเคราะห์ผิดทาง ตอบผิดได้คะแนนติดลบเป็นส่วนมาก เลยพยายามไม่ตอบถ้ารู้สึกไม่มั่นใจ

หาจุดอ่อน จุดแข็งตัวเรา แล้ววางแผนการทำข้อสอบ
หลังจากทดลองทำข้อสอบไปเรื่อยๆแล้ว เราก็จะรู้จักตัวเองว่าเราถนัดอะไรมากกว่ากัน หากมั่นใจเลขมากกว่าก็จงทำพาร์ทคณิตศาสตร์ก่อนเสมอ หากมั่นใจพาร์ทวิเคราะห์ ก็ควรทำพาร์ทวิเคราะห์ก่อน เพื่อเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุดในส่วนที่ถนัด ควรจะทำแบบนี้ให้ชินตั้งแต่ตอนลองทำชุดข้อสอบที่บ้านเลย วันสอบจริงจะได้ชินมือว่าจะเปิดไปทำตรงไหนก่อนหลัง ส่วนตัวเราถนัดทำเลขก่อน เนื่องจากเรามองว่าวิชาเลขนั้น คำตอบที่ถูกต้องจะมีแค่คำตอบเดียวเสมอ ฉะนั้นหากวิธีคิดถูกต้อง คำตอบก็ย่อมถูกอย่างแน่นอน และหลังจากจบการทำพาร์ทนี้ เรามักจะดูเวลา กะคร่าวๆคือใช้ไม่ให้เกินชั่วโมงครึ่ง แต่ในวันสอบจริงเราใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ เลยมีเวลาเหลือเกือบสองชั่วโมงสำหรับพาร์ทวิเคราะห์ที่เราไม่ถนัดเท่าไร สงสัยเพราะให้เวลากับมันเต็มที่ ผลออกมาเลยคะแนนดีกว่าพาร์ทเลขแฮะ

ส่วนที่เป็นเลข ข้อไหนดูแล้วรู้สึกเลยว่าเสียเวลาคิดคำนวณนานเกินกว่า1นาทีแน่ๆ ให้ข้ามไปเลย อย่าเสียเวลา ไว้กลับมาทำทีหลังดีกว่าถ้ามีเวลาเหลือ ข้อไหนที่คิดออกมาแล้วไม่มีคำตอบ ลองอ่านโจทย์ดีๆ บางทีดูตัวเลขผิดไป แทนค่าผิด หรือลองดูวิธีทำของตัวเองคร่าวๆอีกรอบว่าใส่ตัวเลขตรงไหนผิดไปมั้ย ถ้าไม่ผิด ก็ข้ามไปก่อน อย่าไปเลือกข้อที่คำตอบใกล้เคียง เพราะอาจจะไม่ถูกต้องแล้วจะเพิ่มคะแนนติดลบไปเปล่าๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังที่สุดในพาร์ทเลขคือ เมื่อทำแล้วจะรู้สึกว่าทำได้ มีคำตอบ แต่จริงๆแล้วโดนหลอก ก็จะติดลบคะแนนไปตามระเบียบ จะระวังการโดนหลอกยังไง ก็ได้ด้วยก็คือการทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ โดนหลอกบ่อยๆ ก็จะรู้เองว่าโจทย์แบบไหนที่ตั้งใจมาหลอกเรา

พาร์ทวิเคราะห์ ถ้าอ่านดูแล้วรู้สึกว่าไม่มั่นใจว่าคำตอบไหนแน่ๆ ปล่อยว่างไปเลยดีกว่า อย่าฝืนตอบ แต่ข้อไหนมั่นใจชัวร์ๆ ค่อยตอบ อย่ามั่วเด็ดขาด การมั่ว การเดา การคิดไปเอง คือหนทางแห่งหายนะ ง่ายๆคือถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราเลือกคำตอบไปแล้วว่าจะตอบอันนี้แต่ใจลึกๆเราแอบลังเล หรือฝนคำตอบไปแล้วรู้สึกกังวลใจ ให้กลับไปลบทิ้งดีกว่า "ไม่มั่นใจอย่าตอบ" ที่สำคัญอย่าเพิ่งคิดว่าไม่ถนัดวิเคราะห์แล้วจะทำได้ไม่ดี เพราะเราก็ไม่ถนัดเลย ตอนทดลองทำข้อสอบออกมาก็ได้คะแนนประมาณร้อยกว่าตลอด สอบจริงได้ประมาณ2ร้อยนิดๆ โดยเราเลือกทำบทความยาวๆก่อนเสมอ เพราะส่วนตัวเราคิดว่าทำคะแนนได้ง่ายกว่าบทความสั้นๆ ซึ่งมักจะหลอกให้เรางงและตอบผิดบ่อยๆ

สมาธิสั้นก็เป็นอีกสาเหตุของเราที่ทำให้ตอนเราทดลองสอบ ทำข้อสอบแล้วไม่ค่อยมีสมาธิต่อเนื่องยาวๆ ทำแล้วก็คิดเรื่องนู้นนี่ ใจไม่จดจ่อกับบทความเลยอ่านไม่รู้เรื่อง ทำเลขแล้วก็ไปคิดเรื่องอื่นกลับมาทำต่อก็มึนงง เสียเวลาไปฟรีๆ บางครั้งเราเลยแยกการสอบเป็นวันละชั่วโมงครึ่ง2วันติดกันแทนที่จะยาว3ชั่วโมงรวด แต่เราว่าวิธีแยกแบบนี้ไม่เวิคอย่างยิ่ง เพราะถึงเวลาจริง เราก็ต้องทำข้อสอบติดกัน3ชั่วโมงอยู่ดี วิธีฝึกสมาธิง่ายๆของเราคือการสวดมนต์ ไม่ได้เยอะอะไรมาก ตอนเช้าถ้ามีเวลาเราก็สวดมนต์ทำวัตรเช้าก่อนไปทำงาน หรือตอนเย็นกลับมาบ้านถ้ามีเวลาก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น ใช้เวลาวันละนิด ไม่น่าเชื่อว่าสมาธิเราดีขึ้นมาก ตอนนี้แม้ไม่ได้สอบแล้วเราก็ยังสวดต่อ

ก่อนวันสอบจริง
ช่วง2-3วันก่อนสอบเราจะพักสมอง คือไม่ทำข้อสอบไม่ทวนไม่อะไรแล้ว(แต่ก็ทวนจบหมดแล้วนะ) เอาเวลาไปนั่งอ่านหนังสืออ่านเล่นบ้าง ดูหนังบ้าง อ่านการ์ตูนบ้าง คุยกับเพื่อนบ้าง เนื่องจากเราเชื่อว่าวิชาเลขมันเป็นอะไรที่ใช้ความเข้าใจอยู่แล้ว ไม่ต้องท่องจำอะไร ปล่อยให้สมองได้พักก่อนเจอศึกหนักบ้างดีกว่า

คืนวันก่อนสอบ
เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องสอบให้พร้อม
1.ปากกา ใช้เขียนชื่อในกระดาษคำตอบ และไว้เซ็นชื่อ
2.ดินสอกดแบบ2B ใส่ไส้สำรองไว้ให้เรียบร้อย เผื่อว่าไส้ดินสอหมดจะได้ไม่ต้องมานั่งใส่ให้เสียเวลา
3.ยางลบ
4.บัตรประชาชน
5.เสื้อกันหนาว (ถ้าขี้หนาวก็มีไว้ดีกว่าไม่มี)
6.เตรียมชุดสุภาพที่จะใส่ไปให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องมาหาตอนเช้าให้เสียเวลา
แล้วนอนแต่หัวค่ำเพื่อจะได้มีพลังเต็มที่ในวันสอบ

วันสอบ
- ควรกินข้าวเช้าให้พอเหมาะ อย่าน้อยเกินไปเดี๋ยวจะหิวตอนสอบ อย่ากินพวกที่เสี่ยงต่อการท้องเสีย
- ควรหาเวลาว่างสัก15นาทีในที่เงียบๆและขณะสมองปลอดโปร่ง เอาshort noteมาทวนสักรอบนึง ไม่ว่าจะในส่วนของสูตรคำนวณ หรือหลักการอ่านพวกบทความ สมมติฐาน บทสรุป ตั้งชื่อเรื่อง ฯลฯ
- อย่าฟังเพลงแม้ตอนอาบน้ำหรือขับรถ คือถ้าเราฟังเพลงอะไรไปสักพักแล้วเพลงบางท่อนมันจะชอบหลอนในหัวเราไปอีกสักพักใหญ่ๆ ทำให้เช้าวันสอบเราเลยบังคับตัวเองให้ฟังดนตรีคลาสสิคอย่างเดียว พวกโมซาร์ท, เซอร์เก รัคมานินอฟ อะไรแบบนี้จะไม่ส่งผลหลอนในหัวเรา
- ไปให้ถึงก่อนสอบสักครึ่งชั่วโมงอย่างน้อย เผื่อเวลาดีกว่าไปสาย โดยเฉพาะผู้ที่เอารถไป เพราะทุกคนก็แห่ไปแย่งกันจอดรถที่จามจุรีสแควร์ ขากลับก็แย่งกันออก
- พกทิชชู่ไปด้วย ห้องน้ำบนตึกไม่มีทิชชู่ให้ (ตึกมหิตลาธิเบศร์) ห้องน้ำผู้หญิงคิวยาวมาก และหลังเข้าห้องน้ำแล้วไม่ควรกินน้ำเยอะ สอบเสร็จค่อยกิน
- กระเป๋าของทุกคน จนท.จะให้วางหน้าห้อง ฉะนั้นอย่าพกของมีค่าไป อย่าลืมเอาบัตรประชาชนไปที่โต๊ะสอบด้วย
- นาฬิกาในห้องสอบมีบอกที่สไลด์ใหญ่หน้าห้อง แต่ใส่นาฬิกาไปด้วยเพื่อความชัวร์ดีกว่า
- อย่าไปสนใจคนอื่นรอบข้างหรือเสียงอะไรก็ตาม สนใจแต่ข้อสอบตรงหน้าและอยู่กับมันจนจบ3ชั่วโมงก็พอ
- แม้ว่าจะเหลือเวลาแค่1นาทีก็อย่าตื่นเต้น ทำใจสบายๆลองอ่านข้อสอบดีๆ เพราะว่า1นาทีสุดท้ายของเราตอบได้อีก2ข้อเลยทีเดียว (เป็น2ข้อที่ค่อนข้างมั่นใจว่าถูก และเป็นการกลับมาอ่านข้อเก่าที่ข้ามไปทีแรก)
- อย่าหลงเชื่อจนท.ที่บอกว่าจะหมดเวลาแล้วให้รีบกาข้อสอบให้หมด เราคิดว่าจนท.ไม่รู้ว่ามันมีติดลบคะแนนด้วย

ขอให้ทุกคนโชคดี

Jul 18, 2014

เพื่อน ความรัก มิตรภาพ

ครั้งหนึ่งเราได้เคยตอบคำถามว่า เพื่อนมีไว้ทำไม อย่างสวยๆว่า

มีไว้อยู่ข้างๆเวลามันไม่มีใคร
มีไว้ฟังเวลามันอยากเล่าอะไรให้ใครสักคนฟัง
มีไว้เตือนให้อยู่ในร่องในรอยเวลาที่มันจะทำอะไรผิดๆ
มีไว้ให้อภัยเวลาที่มันทำร้ายจิตใจเราโดยไม่ได้ตั้งใจ
มีไว้เชื่อมั่นในตัวมันเวลาที่ไม่เหลือใครบนโลกเชื่ออะไรมันอีกแล้ว

ขออนุญาตเรียกเพื่อนว่า"มัน"เพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่แนบแน่น

ที่เราตอบเอาไว้แบบนี้ เพราะในชีวิตของเรา เราได้มีโอกาสเจอเพื่อนเหล่านี้มาแล้วจริงๆ แล้วเพื่อนเหล่านี้ก็ได้ทำสิ่งที่มีค่าและได้ให้ความหมายจริงๆของคำว่าเพื่อนกับคนที่ไม่เคยเข้าใจอะไรเลยอย่างเรา ขอเล่าถึงเพื่ิอนคนนึงของเรา

"มีไว้เชื่อมั่นในตัวมันเวลาที่ไม่เหลือใครบนโลกเชื่ออะไรมันอีกแล้ว"
เพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นเพื่อนที่มีดีที่หน้าตา เธอทำให้เรารู้ว่าคนเราบางคนไม่ได้แค่หน้าตาดีเท่านั้นแต่จิตใจก็งดงามไม่แพ้เปลือกที่ห่อหุ้มตัวเธอ

วันนั้นเราพลาดพลั้งทำผิดพลาดครั้งใหญ่ในงานพรีเซนท์งานหนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่เรารับผิดชอบเป็นหลัก แม้ว่าจะพยายามทำมาอย่างตั้งใจแค่ไหนแต่สุดท้ายผลมันกลับเละไม่มีชิ้นดี อาจารย์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของงานชิ้นนี้ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่างานมันไม่ผ่านจริงๆ เราทำให้เพื่อนทั้งกลุ่มต้องพลอยรับเคราะห์ไปด้วย หลังจบคลาส เกือบทุกคนในกลุ่มมองเราด้วยความผิดหวัง แถมยังทำให้ต้องโดนอาจารย์ว่า และดูจะไม่เชื่ออะไรในตัวเราอีก ทุกคนก็คุยๆกันว่าจะเอางานไปแก้ไขกันยังไงดี แต่เราต้องการโอกาสครั้งที่สอง เราอยากขอเป็นคนแก้ไขงานนี้ทั้งหมดเอง เราอยากรับผิดชอบสิ่งที่เราทำผิดไว้ ไม่มีใครสนใจเพราะกลัวว่าเราจะทำพลาดอีกแล้วคะแนนอาจจะย่ำแย่ไปกว่านี้ เราเสียใจมาก เราท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเราเป็นคนไร้ค่า ได้แต่เป็นสาเหตุให้ทุกคนต้องโดนว่า ..

แต่แล้วก็มีเพื่อนเราคนหนึ่ง เป็นคนเดียวในกลุ่มงานนี้ที่บอกกับเราว่า "เธอเอางานไปแก้ให้เต็มที่ได้เลย เรารู้ว่าเธอทำได้ เราเชื่อมั่นในตัวเธอ เราเข้าใจความรู้สึกเธอตอนนี้ ไม่ต้องโทษตัวเองแล้ว ถ้าเธออยากเป็นคนขอแก้ไขทั้งหมด เรายินดี อย่าคิดมากไปเลย เราเชื่อว่าเธอทำได้ดีแน่นอน"
-คำว่า"เธอ"ในประโยคนี้คือชื่อของเรา

เหตุการณ์นี้ผ่านมาก็นานมากพอสมควรแล้ว แต่ในความทรงจำของเราไม่เคยลืมเรื่องนี้เลย เป็นเรื่องดีๆที่คิดถึงแล้วก็ซาบซึ้งใจ ทุกวันนี้เรายังสงสัยว่าเราได้เคยทำอะไรไว้ถึงได้เชื่อในตัวเราขนาดนี้ เพราะนอกจากเหตุการณ์นี้แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาเพื่อนคนนี้เชื่อในตัวเราตลอด เชื่อในความสามารถของเรา ศรัทธาในตัวเรา พูดได้ว่าในชีวิตของเราถ้าไม่มีเพื่อนคนนี้ วันนี้เราก็อาจจะไม่ได้เป็นเราที่เป็นแบบตอนนี้ก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆของเพื่อนของเราที่ทำไว้ แต่เป็นสิ่งที่มีความหมายมากมายและยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา

เธอคงไม่รู้ว่าเธอได้ทำให้คนนิสัยเลวๆคนนึงอยากเป็นคนดีเหมือนกับเธอ
ขอบคุณที่ทำให้เรารู้สึกว่ามียังมีคนเชื่อในตัวเราอยู่ในวันที่เรารู้สึกว่าเราไม่เหลืออะไรให้เชื่ออีกแล้ว
ขอบคุณที่ให้โอกาสนั้นอย่างไม่มีเงื่อนไข
ขอบคุณที่ได้ทิ้งความหมายและคุณค่าของคำว่าเพื่อนไว้ให้เรา

Jul 8, 2014

SOUTH OF THE BORDER, WEST OF THE SUN


SOUTH OF THE BORDER, WEST OF THE SUN หรือชื่อไทยคือ การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก เป็นหนังสืออีกเล่มของฮารุกิ มุราคามิที่เราคิดว่าอ่านง่ายมาก (บางเล่มยากไปสำหรับเรา อ่านแล้วงง) อ่านแล้วรู้สึกว่าเหมือนกำลังอ่านบทกวีมากกว่าจะเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง ใช้ภาษาได้ดีมาก บทสนทนาหลายๆอันโต้ตอบกันเหมือนการดวลกลอนกันอยู่ คือไม่ใช่ว่ามีสัมผัสคล้องจองกันเป๊ะๆอะไรแบบนั้น แต่ให้อารมณ์ประมาณว่านักปรัชญาสองคนพูดโต้ตอบกันมากกว่า

และแม้ว่าจะมีอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ถูกเฉลยให้แจ่มแจ้งเหมือนกับหนังสือเรื่องอื่นๆทั่วๆไป แต่ในชีวิตจริงของคนเรามันก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่หรอ..

เรื่องบางเรื่องเราไม่เคยได้รับรู้ความจริงแม้กระทั่งเราได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ..
เรื่องบางเรื่องเราไม่เคยรู้ที่มาที่ไปของมัน เราตัดสินมันจากสิ่งที่เรารับรู้ และบางครั้งการรับรู้อันนั้นมันก็ผิดจากความจริงไปมาก ..
เรื่องบางเรื่องกับคนบางคน เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้อธิบายความจริงให้เค้าได้รับรู้ด้วยซ้ำ ..

ทุกคนต่างก็มีความทรงจำในอดีตที่อยากเก็บไว้หากเป็นความทรงจำที่ดี
(และอยากลืมหากเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด)

แล้วถ้าหากคนในความทรงจำของเราปรากฏขึ้นข้างหน้าเรา เราจะทำยังไงกับโอกาสอีกครั้งของเรา ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายในชีวิต


"สักพักหนึ่ง เป็นวลีที่ไม่อาจวัดความยาวนานได้ อย่างน้อยก็สำหรับคนที่รอคอย"

Jun 24, 2014

We - We Japanese Edutainment School

สำหรับภาษาญี่ปุ่นและการเรียนภาษาต่างๆนั้น เราคิดว่าหากมีความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เรามีพัฒนาการด้านภาษามากยิ่งๆขึ้นไปได้ไม่ยากนัก ซึ่งส่วนใหญ่คนมักจะแพ้จิตใจอันไม่แน่วแน่ของตัวเอง เลยล้มเลิกกลางคันกันเสียมาก แต่หลายๆคนก็สู้กับความท้อแท้ใจ ความขี้เกียจเหล่านั้นจนไปถึงฝั่งฝัน

ความขยันหมั่นเพียรที่ต้องทำเป็นกิจวัตร เช่นการท่องศัพท์คำใหม่ๆเพิ่มขึ้นทุกๆวัน การทบทวนคำศัพท์เก่าๆ(จะได้ไม่ลืม) การคัดคันจิทุกๆวัน(ได้ทั้งศัพท์ได้ทั้งการอ่านที่ถูกต้อง) การหัดแต่งประโยคบ่อยๆ(เพื่อทบทวนแกรมม่าที่เคยเรียนมา) การซ้อมบทพูดซ้ำๆจนชินปาก(ควรฟังต้นฉบับญี่ปุ่นประกอบด้วยเพื่อสำเนียงจะได้เหมือนเจ้าของภาษา) จนสามารถพูดตอบโต้ได้ทันทีไม่ต้องคิดรูปประโยค หรือแม้แต่การดูอะนิเมะบ่อยๆเพื่อจะได้พัฒนาทักษะการฟัง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกฝนด้วยตัวเองที่บ้านได้เมื่อเราแบ่งเวลาให้มันทุกๆวัน

อันนี้เรื่องส่วนตัว ข้ามไปได้เลย
สำหรับเรา ในอดีตเคยอ่านมินนะเล่ม3(6บทหลัง)และเล่ม4เองและก็ไปสอบผ่านN4แบบชิวๆ (คือถ้าจำศัพท์ในมินนะ4เล่มได้หมด การไปสอบN4แทบจะไม่มีคำศัพท์คำไหนแปลไม่ออก) เลยคิดเอาเองว่าการเรียนตามสถาบันต่างๆไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากจะเรียนเพื่อเป็นการเสริมทักษะที่ขาดเท่านั้น ทีนี้พอเริ่มอ่านส่วนที่เป็นแกรมม่าเองเพื่อจะไปสอบN3 พบว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด อาจจะเพราะหนังสือที่เรามี ดีไม่พอ หรืออาจจะเพราะเราเองที่เข้าใจอะไรยาก หลังจากได้อ่านหนังสือเองจนท้อแท้ใจว่าเราคงไม่สามารถไปต่อได้ ก็เลยหยุดการอ่านการทบทวนทุกอย่างที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นเวลา4เดือนเต็มๆ(ดูแต่อะนิเมะอย่างเดียว) เพราะคิดว่าเราคงมาได้เท่านี้จริงๆ

จนวันนึงเราก็มาคิดดูว่า ถ้าเราอ่านเองไม่รู้เรื่อง ก็หาที่เรียนแต่แกรมม่าดีกว่ามั้ย เพราะว่าในส่วนอื่นๆ(เช่น ศัพท์ คันจิ บทสนทนา ฟัง) เราคิดว่าเราพอจะทบทวนด้วยตัวเองไหวและพอจะจัดสรรเวลาในทุกๆวันได้ เหตุที่เราไม่อยากกลับไปเรียนทักษะครบทุกด้านเหมือนสมัยเรียนสสท. เพราะเราคิดว่ามันช้าไปสำหรับเรา กว่าจะจบหลักสูตรล่อกันไปเป็นปีครึ่ง-2ปี (สำหรับหลักสูตรจากระดับN4ไปN3) ซึ่งมันอาจจะเหมาะสำหรับคนที่อยากจะค่อยๆไป+วันธรรมดาไม่ค่อยมีเวลาทบทวนมากกว่า

เข้าเรื่องโรงเรียนสอนภาษาweตรงนี้
แล้วเราก็ได้มาเจอสถานบันสอนภาษาญี่ปุ่นที่เรากำลังหาอยู่ คือสอนแกรมม่าล้วนๆ ไม่ต้องรอเปิดคอร์สให้วุ่นวาย เพราะเรียนผ่านระบบ sa-mu-ra-i ของโรงเรียน(เหมือนเปิดแผ่นเอา) ซึ่งสามารถไปเรียนที่สถาบัน หรือจะเลือกจ่ายเพิ่มอีก1พันบาทแต่สามารถเปิดเรียนจากคอมฯที่บ้านได้เลยไม่ต้องมาที่สถาบัน

นั่นก็คือโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นwe http://www.we-jpschool.com/
หมายเหตุ : ที่โรงเรียนก็มีเปิดคอร์สสอนสดแบบครบทุกทักษะเหมือนกับโรงเรียนทั่วๆไปด้วย แต่ส่วนตัวไม่เคยเรียนสด ฉะนั้นในที่นี้จะขอพูดถึงแค่การเรียนผ่านระบบsa-mu-ra-i@homeเป็นหลัก

การเดินทาง
จะมีสาขาอยู่3สาขาหลักๆ คือ บางกะปิ วงเวียนใหญ่ และอนุสาวรีย์ แต่สาขาที่เราไปสมัครเรียนคือวงเวียนใหญ่ อยู่ชั้น1 อาคารM Place ถ้านั่งBTSมาลงสถานีวงเวียนใหญ่แล้วเดินมาก็ได้ แต่ไกลโคตร ควรต่อรถสาธารณะอื่นๆมาจะดีกว่า สำหรับผู้ที่เอารถมา ใต้ตึกมีที่จอด(ที่ดูๆแล้วเหมือนจอดได้ไม่กี่สิบคัน) แต่อัตราค่าจอดรถเป็นยังไงไม่แน่ใจ เพราะตอนไปสมัครเรียนจอดไว้ด้านนอกตึก สำหรับผู้เรียนผ่านระบบsa-mu-ra-i@home ก็คือมาแค่วันสมัครเรียนหรือใช้วิธีโอนเงินแต่ว่าก็ต้องมารับหนังสือที่สถาบันอยู่ดี จากนั้นก็เปิดดูจากที่บ้านได้เลย สะดวกมากไม่ต้องเสียเวลาเดินทางด้วย

หากเรียนผ่านระบบsa-mu-ra-i@we ก็คือเรียนเปิดแผ่นเหมือนกันกับเรียนที่บ้านเลยแต่มานั่งเรียนที่weตามแต่สาขาที่เราสมัครไว้ (อาจจะต้องจองเวลาก่อนเข้าไปเรียนด้วย เพราะคอมฯมีจำนวนจำกัด) ส่วนการสอนสดจะมีแค่ที่สาขาอนุสาวรีย์เท่านั้น




การสมัครเรียน
จริงๆตอนแรกเราตั้งใจจะไปลองเรียนฟรีดูก่อนว่าไอ้ระบบsa-mu-ra-iเนี่ยมันเป็นยังไง แล้วอาจารย์ที่สอน สอนโอเคมั้ย พอไปทดลองเรียนเสร็จเราคิดว่าโอเค เป็นอะไรที่เราหาอยู่พอดี ก็สมัครเรียนแล้วก็โอนเงินผ่านมือถือที่เคาเตอร์สมัครเรียนเลย (เค้าไม่มีให้จ่ายสดต้องโอนเท่านั้น) ถ้าโอนวันอื่น เราต้องมารับหนังสือที่สถาบันอีกรอบ เราขี้เกียจมาหลายที เลยจ่ายให้จบๆไป แล้ววันถัดไปเราก็สามารถลงโปรแกรมของสถาบัน ล็อกอินจากคอมฯที่บ้านแล้วเริ่มเรียนได้เลย

พนักงานที่สาขาวงเวียนใหญ่ที่เราไปใช้บริการสมัครเรียน พูดจาดีมากให้บริการดีมาก ดีกว่าทุกโรงเรียนที่เคยสอบถามข้อมูลมา ต้องขอชมว่าเค้าเทรนมาดี

คอร์สเรียน
คอร์สของเราที่สมัครไว้เป็นคอร์สเตรียมสอบJLPT ส่วนใหญ่เนื้อหาที่เรียนจึงเป็นแกรมม่าล้วนๆ แต่ก็มีสอนคำศัพท์ การอ่าน คันจิ และฟังด้วย แต่เน้นแกรมม่าเป็นหลัก เวลาเรียนที่บ้านก็เหมือนเรียนในห้องจริงๆเลยคือเปิดหนังสือเรียนตามบทแล้วก็มีสมุดจด1เล่ม (จดเยอะมาก) เวลาอาจารย์ให้ทำแบบฝึกหัด เราก็ทำ ถ้าทำไม่ทันอาจารย์กำลังจะเฉลยก็กดหยุดไปก่อนทำเสร็จค่อยplayต่อ อันไหนฟังไม่ทันจดไม่ทันก็กดย้อนกลับไปฟังใหม่จดใหม่ อันไหนจะเรียนซ้ำก็เปิดเรียนซ้ำได้

เนื่องจากต้นฉบับที่เราดูๆก็อัดมาจากคอร์สที่อาจารย์สอนสด ฉะนั้นใน1ครั้งการเรียน (ประมาณ3ชั่วโมง) ก็จะแบ่งเป็น2disc เราก็เปิดเรียนเรียงไปเรื่อยๆ อันไหนที่เราเปิดขึ้นมาเรียน จะมีอายุ7วัน หลังจากนั้นจะเปิดดูไม่ได้อีก ในส่วนนี้เราเข้าใจว่าเค้าต้องทำมาไว้กันพวกที่จะเรียนคอร์สเดียวกันแต่ฉลาดซื้อคอร์สแค่คนเดียว แล้วคอมฯก็มาแบ่งกันใช้ประมาณนี้

แต่ว่าสมมติเราอยากจะกลับไปเรียนอันเก่าๆที่มันหมดอายุ7วันไปแล้ว มันก็มีเครดิตอยู่ประมาณ28เครดิตซึ่งเราสามารถใช้ได้ 1เครดิตก็จะให้อายุใหม่7วันกับอันที่เราเคยเปิดดูและหมดอายุไปแล้ว แต่ถ้าเครดิตตรงนี้หมด ทีนี้ก็ไม่มีทางกลับไปเรียนอันที่หมดอายุไปแล้วได้อีก ทั้งนี้คอร์สเรียนนึง จะสามารถเรียนได้ประมาณ4-5เดือนแล้วแต่คอร์ส คือถ้าคอร์สหมดอายุแล้วก็จะไม่สามารถเปิดอันไหนๆเรียนได้อีก ฉะนั้นต้องรีบเรียนให้ครบทุกแผ่นก่อนจะหมดอายุคอร์ส

ระบบ sa-mu-ra-i@home
นอกจากจะเรียนบทเรียนตามคอร์สที่เราซื้อเอาไว้แล้ว ยังมีระบบส่วนอื่นๆให้ใช้เมื่อเราล็อกอินเข้าสู่ระบบ มีหลายอย่างที่เราคิดว่าดีและได้ใช้บ่อยๆ เช่น

1.ระบบการถาม-ตอบกับอาจารย์ เนื่องจากเราไม่ได้เรียนกับอาจารย์แต่เรียนจากคอมฯ หากเรามีข้อสงสัยอะไรมันก็มีช่องทางให้เราได้สื่อสารโดยตรงกับอาจารย์ โดยสามารถส่งคำถามไปถามอาจารย์ได้เลย แต่อาจารย์จะมาตอบช้าหน่อย บางคำถามเราถามไปเป็นอาทิตย์อาจารย์ถึงค่อยมาตอบ (ปกติจะส่งไปถามอ.ปุ๊ เพราะคอร์สที่เรียนเป็นคอร์สที่อ.ปุ๊สอน) และเราก็ต้องคอยเข้าไปกดดูตรงส่วนคำถามว่าอาจารย์เข้ามาตอบรึยัง

2.Everybody's Dic ถือว่าเป็นคลังคำศัพท์ที่มีเยอะมาก พิมพ์คันจิตัวเดียวก็มาเพียบ ชอบมาก ทำให้เราท่องศัพท์ทีเดียวได้หลายๆคำที่มีคันจิมาจากตัวเดียวกัน แต่บางคำเสิชในนี้ไม่เจอ ก็พึ่ง longdo เอา

3.Kotoba Parade เกมทายคำศัพท์ ช่วยในการฝึกจำคำศัพท์ โดยเลือกระดับที่ต้องการฝึก หรือเราสามารถทดสอบชุดคำศัพท์ของเราเองก็ได้โดยต้องเข้าไปเพิ่มคำศัพท์ของเราก่อนแล้วค่อยเริ่มทดสอบ

จริงๆยังมีส่วนอื่นๆอีก แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้แค่3อันนี้หลักๆ

อาจารย์ผู้สอน
คอร์สที่เราสมัครไว้ เราเรียนกับอาจารย์ปุ๊ อาจารย์สอนแกรมม่าดีมาก ไม่ค่อยนอกเรื่อง และจะอธิบายเรื่องที่เข้าใจยากให้เข้าใจได้ง่ายๆ ส่วนตัวเราชอบสไตล์ที่อาจารย์สอนมาก

แต่บางทีอาจารย์จะมีการอ่านคันจิผิดหรือเขียนผิดบ้าง ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องคันจิก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่เพื่อความชัวร์ ถ้าจะเอาคันจิที่อาจารย์สอนมาท่อง ควรจะเอาไปเสิชในคลังคำศัพท์หรือเปิดdicให้เรียบร้อยก่อนเสมอ

ค่าเรียน
คอร์สเตรียมสอบวัดระดับ ระดับยิ่งสูงยิ่งแพง ถ้าเรียนที่weไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม ถ้าเรียนที่บ้านจ่ายเพิ่ม1พันบาท ยกตัวอย่างเรียนN3 ราคาแบบ@homeเท่ากับ8พันและค่าหนังสืออีก250บาท สำหรับเราคิดว่าค่าเรียนไม่แพงถ้าเทียบกับความรู้ที่ได้มาจากอาจารย์

สรุป
ในแง่ของระบบการเรียนเองที่บ้าน ก็เป็นโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่เหมาะสำหรับผู้ไม่ชอบการเดินทาง(หรือทำงานแบบไม่เป็นเวลาจึงอาจจะไม่สามารถไปเรียนในวันเวลาเดิมๆได้ทุกสัปดาห์) เพราะน่าจะเป็นสถาบันเดียวในตอนนี้ที่มีให้เรียนที่บ้านได้ด้วย และมาตรฐานการสอนของอาจารย์ก็ถือว่ามีคุณภาพ จะมีข้อเสียตรงคันจินิดหน่อย นอกจากนี้ก็มีให้ทดลองเรียนก่อนได้ จึงสามารถประเมินได้ก่อนสมัครเรียนว่าวิธีที่อาจารย์สอนเหมาะกับตัวเรามั้ย เป็นสิ่งที่เราหาอยู่รึเปล่า

Jun 17, 2014

Lawson 108 ร้านสะดวกซื้อ สะดวกกิน

ได้มีโอกาสลองไปเทสรสชาติข้าวในร้าน lawson108 แบรนด์ร้านสะดวกซื้อที่ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นจะต้องเคยเห็นสาขาอยู่มากมายโดยเฉพาะในแถบคันไซ หลังจากได้ดูๆคนอื่นรีวิวกันมาสักพักตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมเป็นร้านสะดวกซื้อแต่คนเข้าไปนั่งกินข้าวกันจริงจังในนั้น ทั้งๆที่จำได้ว่าเวลาไปซื้อของในlawsonตอนไปญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งแบบนี้นะ(หรือมีแต่เราจำไม่ได้) เท่าที่เคยเห็นเป็นที่นั่งในร้านสะดวกซื้อแบบนี้เคยเห็นใน7-11ที่ไต้หวัน มีโต๊ะยาวกะเก้าอี้แบบนี้เลย และก็มีเครื่องซีร็อกซ์แบบนี้ด้วย

คิดว่าน่าสนใจดีก็เลยได้แวะไปลองมื้อเที่ยง สาขาที่ไปก็คือ mercury ville ที่อยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลชิดลม สาขานี้ตั้งอยู่ชั้นล่างสุด ลงบันไดเลื่อนมาก็เห็นอยู่ตรงหน้าเลย ถ้านั่งรถไฟฟ้ามาก็ลงสถานีชิดลม ถ้าเอารถมาก็จอดที่เซ็นทรัลชิดลมแล้วเดิมข้ามมากได้ จอดฟรี2ชั่วโมงแรก หรือเอารถมาจอดที่mercury villeเลยก็ได้ แต่ไม่รู้ค่าจอดรถคิดยังไงนะ




ในร้านlawson108 มีอาหารให้เลือกกินหลายอย่างเหมือนกัน มีที่จัดโปรโมชั่นอยู่ชามละ49บาทเอง ราคาพอๆกับข้าวข้างทาง แต่ที่จะลองในครั้งแรกนี้ก็คือ ข้าวแกงกะหรี่ไก่ และ โดรายากิรสช็อกโกแลต ตอนจ่ายเงินเมื่อเราแจ้งว่าจะกินที่ร้าน พนง.ก็ให้ช้อนส้อมพลาสติกและเบอร์ที่นั่งมา ก็ยกอาหารไปนั่งตามเบอร์ได้เลย ที่นั่งเดี่ยววิวดี ได้มองไปที่ถนน มีอะไรให้ใส่เกือกมากมายบนท้องถนนนั่น



และตามโต๊ะจะมีปลั๊กให้ชาจแบตได้ด้วย สะดวกดีจริงๆ นอกจากนี้ก็มีโต๊ะนั่งกันเป็นหมู่คณะอยู่ด้านใน



ที่นั่งมีไม่มาก ฉะนั้นถ้ามาในช่วงเวลาprime time ก็อาจจะต้องมียืนกินกันบ้างล่ะ และสาขานี้สามารถใช้พื้นที่นั่งกินได้ตั้งแต่เวลา6โมงเช้า-บ่าย4โมง นอกเหนือเวลานี้ปิด คงเป็นเพราะสาขานี้ไม่ได้เปิด24ชั่วโมง แต่เราเชื่อว่าในอนาคตเมื่อลูกค้ามีมากพอ สาขานี้น่าจะเปิด24ชั่วโมงนะ เพราะข้างถนนก็จอดรถได้ถ้ามาดึกๆ ก็จอดหน้าร้านแล้วเดินเข้าร้านมาได้เลย สะดวกดี



ข้าวแกงกะหรี่ไก่ ราคา70บาท
ตัวข้าว-คิดว่าเป็นพันธุ์ญี่ปุ่นที่ปลูกในไทย แต่ปริมาณข้าวคิดว่าน้อยไปสำหรับผู้ชาย สำหรับผู้หญิงน่าจะอิ่มพอดี
แกงกะหรี่รสชาติคล้ายๆแกงกะหรี่สำเร็จรูปที่ขายในซุปเปอร์(ที่เอาซองไปต้มในน้ำร้อน2-3นาทีแล้วแกะเทใส่ข้าวกินได้เลย สะดวกมาก ดูตัวอย่างด้านล่าง) แต่ของร้านlawson108จะไม่ข้นเท่าแต่ไม่ถึงกับอ่อนรสแกงจนเกินไป และมีเนื้อไก่ใส่มาให้ด้วย ซึ่งแกงกะหรี่สำเร็จรูปมักจะมีแต่ซากเนื้อมาให้

นี่คือตัวอย่างแกงกะหรี่สำเร็จรูปที่เคยซื้อกินเป็นแบบนี้ (อันนี้ตัวอย่างนะ ไม่ใช่ว่าเหมือนรสนี้ รสนี้ยังไม่เคยลองเลย)

สรุป รสชาติข้าวแกงกะหรี่ไก่ ให้ผ่าน เพราะราคาแค่70บาท [ในขณะที่ปกติซื้อมากินกล่องละ105เยน (เดี๋วยนี้108เยนละ) แต่เมืองไทยก็แพงกว่านี้อยู่แล้ว น่าจะ60บาทคุ้นๆว่ามีที่ร้านไดโซะ] มีข้าวญี่ปุ่นอีกตีไป10บาท ใส่ไก่เพิ่มเข้ามาอีกตีไป10บาท ที่เหลือให้เป็นค่าอุ่นร้อนกับที่นั่งแสนสะดวกสบาย ถือว่าคุ้มมาก ถ้าวันไหนรีบๆ มีเวลาน้อยแล้วต้องการรสชาติแบบสำเร็จรูปญี่ปุ่นในราคาโคตรจะคุ้ม ก็จะแวะไปกินอีกนะ



อันต่อมาโดรายากิ เลือกรสช็อกโกแลตมาลอง ราคา20บาท
ตัวขนมปัง ค่อนข้างแข็งในความรู้สึก ความหอมก็พอมีบ้าง
ไส้ช็อกโกแลต หวานไปหน่อย (เป็นคนไม่กินหวาน) แต่อาจจะพอดีสำหรับคนอื่นๆ




สรุป ไม่ค่อยชอบโดรายากิเท่าไร คราวหน้าไว้จะไปลองขนมอย่างอื่นละกัน

เป็นอีกร้านสะดวกซื้อแต่ไม่แค่สะดวกซื้ออีกต่อไป เพราะสะดวกกินด้วย สำหรับใครที่อยากหาอะไรกินง่ายๆแนวญี่ปุ่นๆหน่อย ก็ขอแนะนำlawson108 ไม่ทำให้ผิดหวัง ในร้านมีอีกหลากหลายเมนู บรรยายไม่หมดและเลือกไม่ถูก นี่เป็นเพียงส่วนเดียวในร้าน สำหรับใครที่อยากลองแต่ไม่มีสาขาใกล้บ้าน ขอให้รออีกหน่อย รอบนี้สหพัฒน์น่าจะมาถูกทางกว่าเดิม(กว่าสมัยทำร้าน108shop) ฉะนั้นสาขาน่าจะขยายได้อีกบานเบอะไปทั่วประเทศ ต้องแตกต่างอย่างมีคุณภาพแบบนี้แหละ

Jun 13, 2014

JF - ฝ่ายภาษาญี่ปุ่น เจแปนฟาวน์เดชั่น

อย่างที่ทุกคนรู้กันดีเมื่อเราเรียนภาษาญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ จนระดับภาษาของเราเริ่มสูงขึ้นๆ คนที่เรียนมาด้วยกันจะค่อยๆหายหน้าไปทีละคนๆ (บางทีก็หายไปทีละหลายๆคน) อย่างที่มีผู้กล่าวไว้ว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว เส้นทางการเรียนภาษาญี่ปุ่นก็ใช่ว่าจะแตกต่างกับคำกล่าวนั้นไม่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาของผู้เรียนที่เน้นแนวทางการเรียนแบบมีครูผู้สอน เพราะคอร์สที่ไปจองเอาไว้ รอคนมาสมัครครบจำนวนเพื่อจะเปิดเรียนนั้น ก็ต้องรอกันเป็นปี หรือรอกันข้ามปีเลยทีเดียว ฉะนั้นเมื่อสามารถเรียนจนจบมินนะ4เล่มเป็นอย่างน้อย (หรือผ่านN4) ถ้าคิดไม่ออกว่าจะไปลงเรียนที่ไหนดี ก็ต้องขอแนะนำโรงเรียนนี้เป็นที่แรกที่ต้องคิดถึง...




อีกหนึ่งโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่ดเด่นในเรื่องของราคาและคุณภาพ ฝ่ายภาษาญี่ปุ่น เจแปนฟาวน์เดชั่น(Japan Language Department - Japan Foundation) ส่วนใหญ่เรียกกันสั้นๆว่าJFนั่นเอง http://www.jfbkk.or.th/japan_course_01th.php เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน จะเขียนแยกเป็นหมวดหมู่ตามสไตล์

การเดินทาง
ตั้งอยู่ชั้น10 เสริมมิตรทาวเวอร์ที่อยู่ตรงแถวอโศก ถ้ายนำรถยนต์มาก็สามารถจอดรถที่ตึกได้ ปั้มบัตรจอดรถกับทางโรงเรียนก็สามารถจอดได้1ชั่วโมงฟรี หรือวิธีการมาที่สะดวกกว่าก็คือ มารถไฟฟ้าBTSลงสถานีอโศก มาMRTก็ลงสถานีสุขุมวิท แล้วเดินออกมาexit1(ของMRT) เดินต่ออีกนิดนึงก็มาถึงอาคารเสริมมิตร



อาหารการกินในโรงเรียน
เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนตึกออฟฟิศจึงไม่สามารถจะมีร้านขายอาหารหรือของกินเล่นมาตั้งขายที่ชั้น10ได้ ฉะนั้นหากต้องการซื้ออะไรมา(แอบ)กินในห้อง(ซึ่งไม่ควรทำ) หรือจะหาร้านข้าวกิน ก็ควรกินจากterminal 21มาเลย (ชั้นบนสุดมีfood courtที่ถือว่าถูกมากที่สุดในกรุงเทพฯ) ถ้าจะกินร้านอาหารต่างๆ หรือของกินเล่นก็มีมากมายให้เลือก แนะนำว่าหากหิวก็ควรจัดมาจากที่อื่นให้เรียบร้อย ถ้าไม่ได้แวะที่อื่นเลย ทางเลือกสุดท้ายที่ใกล้สุดคือร้านสะดวกซื้อใต้ตึก ซึ่งเป็นแบรนด์Lawson108เพิ่งเปิดไม่นานนี้ มีขายอาหารbentoและของกินอื่นๆแบบมีโต๊ะให้นั่งกินในร้านด้วย

ห้องสมุด
เป็นห้องสมุดสำหรับผู้รักภาษาญี่ปุ่นอย่างแท้จริง มาครั้งแรกก็หลงรักเลย เพราะไม่ใช่แค่หนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นเยอะที่สุดแบบหาที่ไหนไม่ได้ ยังมีหนังสือญี่ปุ่นหลากหลายแนวให้อ่าน แผ่นเพลงญี่ปุ่น และหนัง+อนิเมะและอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสือภาษาไทยที่เป็นหนังสือเรียนญี่ปุ่น หนังสืออ่านเล่นที่แปลมาจากญี่ปุ่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้เข้าไปใช้บริการได้ฟรี แต่ถ้าต้องการยืมออก ต้องสมัครสมาชิกรายปี แต่ที่นี่ปิดทุกวันอาทิตย์และวันหยุด ดูรายละเอียดได้จากเว็บ http://www.jfbkk.or.th/libraryservice_th.php

เนื่องจากมีคนญี่ปุ่นมาใช้บริการเยอะเหมือนกัน ที่นี่เลยค่อนข้างเงียบ(ดี)มาก ไม่ค่อยมีเสียงคุยกันรบกวนผู้อื่น โต๊ะมีจำนวนมากพอสมควร สามารถนั่งอ่านหนังสือได้ทั้งวันแบบมีสมาธิอย่างมาก (ห้องสมุดอยู่ที่ชั้น10เหมือนกัน แต่จะอยู่แยกจากส่วนของโรงเรียนมาอีกฝั่ง)

การเข้ามาเรียน
ที่นี่เป็นระบบเปิดเรียน2ภาคการศึกษาต่อปี เทอมแรกของปีเรียนประมาณเดือนมิย.-กย.และเทอมที่2เรียนประมาณเดือนพย.-กพ. ช่วงเดือนพค.และตค.ของทุกปีก็จะมีการจัดการสอบเพื่อวัดระดับชั้นก่อนเข้าเรียน (หากใครสนใจจะเรียนที่นี่ก็ควรเข้าเว็บของโรงเรียนหรือเฟสบุคโรงเรียน https://www.facebook.com/jfkouzabkk เพื่อหาข้อมูลล่วงหน้าตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนและปลายเดือนกันยายน เพื่อเช็ควันสมัครสอบและวันสอบ) หรือหากสอบผ่านการสอบวัดระดับ JLPT ตั้งแต่N4,N3และN2 ที่มีอายุไม่เกิน2ปีก็เอามายื่นแทนการสอบได้

ข้อสอบที่ใช้สอบเพื่อวัดระดับเราว่าจะได้เรียนระดับไหน(สำหรับผู้ไม่มีผลJLPT)จะเป็นข้อสอบชุดเดียว เรียงจากง่ายไปยาก มีทั้งสอบฟัง เขียนคันจิ คำศัพท์ แกรมม่า บทความให้อ่าน คล้ายๆสอบวัดระดับJLPT เลยแต่ง่ายกว่า ในส่วนของคันจิและฟังเขียนตอบที่ได้ยินจะเป็นระดับต้นๆง่ายๆ ส่วนแกรมม่ามีตั้งแต่ง่ายไปยาก ส่วนบทความก็มีหลายบทความตั้งแต่แบบง่ายไปยาก ตอนเราไปสอบเคยออกบทความเหมือนเล่มเตรียมสอบวัดระดับเป๊ะๆเลย

เล่มนี้อ่ะ


การสมัครเรียน
หลังสอบผ่านได้ระดับชั้นกันแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการสมัครเรียน ก็ต้องมาแย่งกันลงเรียน เนื่องจากคอร์สมีหลายคอร์สเปิดให้เรียนก็จริง แต่เปิดน้อยกว่าจำนวนคนที่ต้องการมาเรียน แต่ส่วนใหญ่จะไปแย่งกันในระดับชั้นกลางหรือผู้ที่ผ่านN3 แต่ในระดับN4(หรือชั้นต้นกลาง)ก็ไม่เต็มกันง่ายๆ ยกเว้นคอร์สmarugotoที่จะสมัครเรียนก่อนคอร์สอื่นๆ ก็เลยจะเต็มไว เดี๋ยวนี้มีคอร์สmarugotoขั้นต้นด้วย น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ผ่านN5 อันนี้ไม่แน่ใจ สำหรับนักเรียนเก่าจะมีสิทธิ์ได้ลงทะเบียนเรียนก่อนนักเรียนใหม่คนละ1คอร์ส แต่จะไม่ขอพูดถึงรายละเอียดตรงนี้ละกันเพราะนักเรียนเก่าคงรู้ระเบียบดีอยู่แล้ว

ในวันสมัครเรียน เค้าจะเริ่มให้ลงทะเบียนตั้งแต่10โมงก็จริง แต่หากต้องการได้เรียนคอร์สที่อยากเรียนแบบชัวร์ๆ ควรจะมาเข้าคิวตั้งแต่8โมง หลังจากลงทะเบียนรอบเช้าเสร็จ (ซึ่งจะลงได้คนละคอร์สเท่านั้น) ก็สามารถไปเข้าคิวใหม่สำหรับรอลงทะเบียนรอบบ่ายได้เลย รอบบ่ายจะลงกี่คอร์สก็ได้ จากนั้นก็รอเปิดเรียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

คอร์สเรียน
มีคอร์สเรียนประมาณ20คอร์สต่อเทอม รวมทุกระดับชั้น คอร์สนึงรับประมาณ15-25คนแล้วแต่คอร์ส แต่ละคอร์สมีทั้งเรียนต่อเนื่องไปเทอม2 และคอร์สแบบเรียนจบในเทอมเดียว แต่จะไม่มีคอร์สเรียนแบบเรียนยาวๆไปเรื่อยๆจนจบแล้วสอบเพื่อผ่านไประดับชั้นถัดไป แต่คอร์สจะเป็นประมาณเหมือนเสริมทักษะในระดับนั้นๆมากกว่า ฉะนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่เรียนเองอยู่แล้วมาหาอะไรเรียนเสริมมากกว่า จะมาเรียนรู้ทุกอย่างเพื่อสอบJLPTภายใน1หรือ2เทอม ถ้าเรียนแล้วต้องการจะไปเรียนในคอร์สที่ระดับสูงขึ้นกว่าเดิม ก็ต้องสอบวัดระดับของเจเอฟเอาหรือไม่ก็เอาคะแนนJLPTมายื่นเท่านั้น

คอร์สที่เปิดประมาณ45% จะเป็นคอร์สสำหรับระดับN3 ต้องเข้าใจหน่อยเพราะว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หาที่เรียนตามสถาบันแบบมีอาจารย์เป็นผู้สอนยากมาก ฉะนั้นแม้จะเป็นผู้เรียนด้วยตนเองบางทีก็ต้องมาหาที่เรียนเสริมบ้าง เผื่อว่ามีข้อสงสัยอะไรตรงไหนยังไง จะได้มีอาจารย์ระดับเทพไว้คอยถามส่วนที่ข้องใจ

อีก35%ก็จะเป็นคอร์สสำหรับระดับN2 ส่วนมากผู้ที่ผ่านN2แล้วมักจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว ฉะนั้นการเพิ่มพูนทักษะมักจะเป็นแบบการได้ใช้บ่อยๆจนเคยชิน อ่านบทความที่เป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่เป็นนิจ แปลเป็นอาชีพอะไรทำนองนี้ แต่การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อพัฒนาทักษะในด้านที่อาจจะไม่ถนัดหรือเป็นส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้ ก็จำเป็นต้องมาเรียนเสริมกันบ้าง แล้วก็แทบจะไม่มีที่ไหนเปิดสอนระดับสูงแบบN2ได้นอกจากที่เจเอฟแห่งนี้

ส่วนอีก20%ที่เหลือจะเป็นคอร์สสำหรับN4 เนื่องจากในระดับนี้ แกรมม่าและคำศัพท์ในคลังสมองเรา มักจะยังมีไม่มากพอจะเอาไปใช้งานได้อย่างจริงจัง หลายๆคนจึงยังเรียนอยู่ในระบบตามสถาบันต่างๆ หรืออาจจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเรียนด้วยตนเอง คอร์สที่เสริมทักษะด้านใดด้านหนึ่งในระดับนี้จึงน่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่เรียนด้วยตัวเองแล้วมาเสริมส่วนที่ขาดมากกว่า ถ้ามาเรียนหวังเอาผ่านN3จากที่นี่อย่างเดียวล้วนๆ บอกได้เลยว่าเป็นไปได้ยาก

ส่วนระดับN5น้องใหม่ที่เพิ่งเปิด เป็นคอร์สmarugoto เน้น ฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นคอร์สที่ไม่เคยเรียน เลยไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นไง แต่ตำราดูน่าเรียนมาก

ค่าเรียน
ถูกที่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน กับระดับการสอนคุณภาพสูงขนาดนี้ ได้ยินมาว่าค่าตัวอาจารย์แต่ละคนที่สอนที่นี่ต่อชั่วโมงสูงกว่าค่าตัวอาจารย์(น่าจะเกือบ)ทุกสถาบัน แต่เนื่องจากว่าที่เจเอฟมีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นสปอนเซอร์ให้ ทำให้นักเรียนทุกคนที่ได้มีโอกาสมาเรียนที่นี่จ่ายค่าเรียน(ค่าตัวอาจารย์)แค่เพียงส่วนเดียว ที่เหลือรัฐบาลญี่ปุ่นออกให้ จึงได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ฮ่าๆๆ ฟังดูเท่อ่ะ แบบว่านักเรียนทุนนะ มีสมองไรแบบนี้ แต่จริงๆก็ไม่ได้เก่งอะไรขนาดนั้น กร๊ากๆ

อาจารย์ผู้สอน
คือแบบว่าเคยได้ยินมาว่ามีอาจารย์ที่สอนอยู่ที่นี่คนนึงสอบได้N1แบบเต็มทุกพาร์ทอ่ะ สุดยอดอ่ะ ทำได้ไง(วะ) แต่ส่วนตัวไม่เคยเรียนกับอาจารย์ท่านนี้นะ เคยเรียนกับอาจารย์คนอื่น แต่เท่าที่เรียนมา ก็คิดว่าอาจารย์มีวิธีสอนที่สนุก ไม่น่าเบื่อ และทำให้เราเข้าใจได้ง่าย ที่สำคัญอาจารย์น่ารักและใจดีมาก ทุกคนเลย แถมบางคลาสมีกิจกรรมเสริมสนุกๆหลายอย่าง เช่น การเขียนพู่กันจีน การเขียนสคส.ปีใหม่ การแต่งกลอนเซนริว แม้จะมีเวลาน้อยมาก(เรียนชั่วโมงครึ่ง) แต่ก็มีแทรกวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบมินิให้ ถูกใจสุดๆ เพราะโรงเรียนอื่นที่เรียนมาไม่มีแบบนี้เลย ที่สสท.จริงๆเวลาเรียนมีล้นเหลือมากในแต่ละวัน น่าจะมีจัดกิจกรรมเหล่านี้บ้าง

การเรียนและการสอบ
ปกติการเรียนในห้อง จะมีการสอบเก็บคะแนนย่อยเรื่อยๆ ซึ่งแล้วแต่อาจารย์ผู้สอนจะใช้วิธีแบบไหนและวันไหน แต่ส่วนใหญ่อ.จะบอกล่วงหน้า แล้วก็จะมีสอบเก็บคะแนนกลางภาคและปลายภาคตามแต่อ.แต่ละคนจะแจ้งว่าจะเป็นวันไหน แต่วันเรียนวันสุดท้ายมักเป็นสอบปลายภาคแน่นอน ก็คือถ้าเรามาเรียนสม่ำเสมอ คอยทำการบ้านส่งและทบทวนตลอด ก็สอบผ่านแน่นอน อาจารย์ไม่กดคะแนนเลย แต่ที่สำคัญคืออย่าขาดเรียนมากเกิน ถ้าจำไม่ผิดถ้าขาดเรียนเกิน50%สอบได้คะแนนสูงแค่ไหนก็ไม่ผ่านอยู่ดี เพราะที่นี่เค้าเน้นนักเรียนที่ตั้งใจมาเรียนจริงๆ ไม่ใช่มาลงเรียนขำๆ

สรุป
เป็นอีกที่หนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่เรียนอยู่ในระดับสูงๆ ตั้งแต่N3เป็นต้นไป เพราะมันแทบจะไม่มีที่ไหนสามารถเปิดคอร์สในระดับแบบนี้ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะหากผ่านN2มาแล้วคงต้องมาเรียนที่นี่อย่างเดียวแบบไม่มีทางเลือกอื่นเลยยกเว้นเรียนตัวต่อตัว แต่คอร์สที่นี่ไม่ได้เป็นคอร์สเรียนต่อเนื่องยาวๆแบบเรียน2ปีจากN3มาจบN2อะไรแบบนั้น ฉะนั้นผู้เรียนควรเป็นผู้ไฝ่รู้เรียนด้วยตัวเองอยู่แล้ว (ไม่ใช่เอาชีวิตมาฝากไว้กับอาจารย์) แล้วมาเสริมทักษะที่ขาดที่นี่ ส่วนที่เป็นข้อเสียของที่นี่คือเปิดแค่ปีละ2เทอม น่าจะปรับเป็น3เทอม จะได้มีให้เรียนตลอด ไม่ต้องหยุดนานเป็นเดือนๆ

Jun 11, 2014

สสท - โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)


เรียนภาษาญี่ปุ่นมาก็หลายปี (เริ่มจากปี2012 มาถึงวันนี้ก็2ปีกว่าแล้วสินะ) มาถึงวันนี้ก็มีโอกาสได้เรียนภาษาญี่ปุ่นจากหลายๆสำนัก เลยจะขอเขียนถึงแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นกลาง เผื่อใครที่อยากหาที่เรียน จะได้พอมีไอเดีย

ตรงนี้อ่านข้ามไปได้ เรื่องส่วนตัวล้วนๆ
คร่าวๆ ก่อนแนะนำโรงเรียน แนะนำตัวก่อน ส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ถนัดทางด้านภาษาเลย สมัยเรียนภาษาไทยตอนเด็กๆก็ไม่เคยได้เกรดเกิน2เลย เพราะว่าไม่เข้าใจแกรมม่าภาษาไทยเลยพูดตรงๆที่ทุกวันนี้พูดฟังเขียนอ่านได้ เพราะมันต้องใช้ทุกวันแค่นั้นเอง หลังๆดันคุยกับคนงานพม่ามากไปเลยทำให้เดี๋ยวนี้พูดเพี้ยนๆสลับตำแหน่งแบบคนพม่าเลย เช่นคำว่า หมอนพ่อ แต่พูดเป็น พ่อหมอน -''- ฉะนั้นอย่าไปพูดถึงภาษาอังกฤษที่เรียนมาเกือบทั้งชีวิตเลย เกินเยียวยาไปมาก นอกจากนี้เคยถูกที่บ้านบังคับให้เรียนภาษาจีน ก็มีโอกาสได้เรียน2-3คอร์ส อารมณ์ประมาณว่าคอร์สขั้นต้นของทุกสถาบันผ่านมาหมดแล้ว เรียนไม่เคยจบคอร์ส เลิกก่อนทุกทีแล้วก็ย้ายไปเริ่มต้นเรียนที่ใหม่ ถึงที่สุดพ่อแม่ก็ได้จ้างครูคนจีนมาสอนภาษาจีนที่บ้าน สุดท้ายก็เลิกเพราะไม่ชอบจริงๆ มันไม่เข้าหัวเลย ได้แต่ขำที่อ.สอนไปวันๆ แล้วก็ได้รู้ตัวอย่างจริงจังว่าเราคงไม่ชอบภาษาใดๆในโลกนี้เลย

ทีนี้พอดีว่าตอนขึ้นปีใหม่ปี2012 ไปเที่ยวญี่ปุ่นแบบไปเองไม่ง้อทัวร์ ก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด คนญี่ปุ่นที่ได้พบเจอทุกคนพูดญี่ปุ่นใส่แบบไม่แคร์ฝั่งผู้รับสารอย่างเราเลย กลับมาเลยตั้งใจว่าคราวนี้แหละ จะไปเรียนภาษาญี่ปุ่นจริงๆจังๆละ ถึงแม้เป็นคนไม่ถนัดสายภาษาเลย​ (ถนัดพวกวิเคราะห์กับตัวเลขมากกว่ามาก) ก็จะลองดูสักตั้ง เพราะเดิมทีก็ชอบอ่าน+ดูการ์ตูน(ญี่ปุ่น)มาตั้งแต่อยู่ประถม (มีฟังเพลงด้วยบางวงที่ดังๆ) จริงๆตอนอยู่มัธยมก็เคยไปสมัครเรียนญี่ปุ่นด้วย ไปคนเดียวเลย แบบว่าบ้าญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กๆ แต่วันนั้นไปสมัครเรียนแล้วคอร์สเต็มเลยอดเรียน แล้วเราก็เหมือนไม่ได้มีแรงจูงใจมากพอมั้ง ติดเกมด้วยอะไรด้วยสุดท้ายเลยไม่ได้ไปสมัครใหม่ และลืมเลือนเรื่องราวเหล่านี้ไป จนกระทั่งตอนนี้..




เข้าเรื่องโรงเรียนสสทตรงนี้
สำหรับโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นโรงเรียนแรกที่จะแนะนำคือที่นี่เลย ชื่อเต็มๆคือโรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือทุกคนเรียกย่อสั้นๆกันว่า สสท http://www.tpa.or.th/slc/ ต่อไปจะขอแยกเป็นหมวดหมู่ให้เลือกอ่านได้ง่ายละกัน

การเดินทาง
โรงเรียนตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท29 มีที่จอดรถสำหรับผู้นำรถยนต์มา แต่บางทีก็ที่จอดเต็ม ต้องไปจอดนอกโรงเรียนแทน(แต่ก็ยังอยู่ในซอยสุขุมวิท29นะ) วิธีการเดินทางที่สะดวกกว่าคือBTS สามารถลงได้ทั้งสถานีพร้อมพงษ์ และสถานีอโศก เพราะระยะทางเดินมาโรงเรียนจากทั้งสองสถานีถือว่าพอๆกัน (ถ้ามาจากทางรถไฟใต้ดินก็ลงสถานีสุขุมวิท)



อาหารการกินในโรงเรียน
มีร้านอาหารเล็กๆในโรงเรียนอยู่ด้านข้าง (แต่ทางเข้าจะหายากนิดนึง) ส่วนในอาคารเรียน ชั้น1มีซุ้มขายน้ำและขนมกินเล่นพวกไอติมและขนมปัง และมาม่าคัพสำหรับคนหิวและรอนานไม่ได้

ร้านหนังสือ
เลยจากร้านขายน้ำมาหน่อย จะมีร้านหนังสือสสทอยู่ อย่างที่รู้กันว่าสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) เค้ามีการพิมพ์หนังสือขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นมากมายที่ใช้กันหลายๆเล่มก็เป็นของที่นี่ เรียกได้ว่ามีหนังสือให้เลือกซื้อ(ไปประดับบ้าน)ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับสูง สมาชิกสสทซื้อหนังสือได้ลด15% แบบไม่ต้องรองานหนังสือ และมีโปรโมชั่นร่วมลดราคาจากบัตรrabbitเป็นบางโอกาส อันนี้ต้องติดตามโปรโมชั่นกันเอง

ห้องสมุด
ที่นี่มีห้องสมุดอยู่ชั้นสอง แทบไม่เคยเข้าไปเลย เคยเข้าไปครั้งเดียว เงียบสงบดีและไม่ค่อยมีคน แต่เข้าไปแปบเดียว เลยไม่รู้ว่าหนังสือในนั้นเป็นยังไงมั่ง

ห้องเรียน 
ห้องเรียนอยู่ตั้งแต่ชั้น2ถึงชั้น6 ห้องเล็กบ้างห้องใหญ่บ้างแล้วแต่จำนวนผู้เรียนในคอร์สนั้นๆ มีลิฟท์และบันไดให้เลือกใช้ โต๊ะเรียนที่นี่เป็นโต๊ะแบบโต๊ะยาวนั่งได้2คน ซึ่งเราชอบมาก เพราะมันวางหนังสือวางอะไรได้เยอะดี ที่อื่นส่วนใหญ่จะเป็นโต๊ะแบบเลคเชอร์ มันวางของได้น้อยไม่ค่อยสะดวกเท่า

คอร์สเรียน
คอร์สเรียนที่นี่สำหรับในการเริ่มต้น เมื่อก่อนเป็นMNเรียนทีละ6บทต่อคอร์ส แต่เดี๋ยวนี้จะเป็น JD ซึ่งจะเรียนคอร์สละ3บท หรือ1ใน4ของเล่มมินนะ เรียนจบคอร์สก็จะต้องสอบให้ผ่านเพื่อจะได้ไปเรียนคอร์สถัดไป อย่างที่เราเรียนเป็นคอร์สวันเสาร์ ก็จะเรียนครั้งละ4ชั่วโมง(รวมเบรค) อาจารย์ไทยสอน2ชั่วโมง อาจารย์ญี่ปุ่นสอน2ชั่วโมง อ.ไทยจะเป็นคนสอนแกรมม่า การอ่านและคำศัพท์ อ.ญี่ปุ่นจะเน้นสนทนา คำศัพท์และคันจิ ตีคร่าวๆว่าจะเรียนจบมินนะทั้ง4เล่มก็ต้องเรียนทั้งหมด16คอร์สนั่นเอง สามารถสมัครเรียนได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะในคอร์สขั้นต้นมีเปิดทุกเดือน ส่วนคอร์สระดับสูงกว่าขั้นต้นขึ้นไปก็จะแล้วแต่คอร์สนักเรียนเก่าจะเรียนจบเมื่อไร ก็ไปรอเรียนพร้อมเค้าเปิดว่าง่ายๆ

ความต่อเนื่องของคอร์สจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนที่จะเรียนต่อมีเยอะน้อยแค่ไหน ถ้าคนในห้องที่เรียนมาด้วยกันไม่เรียนต่อกันเยอะ ทำให้คนที่จะต่อคอร์สถัดไปมีไม่ถึง7-8คน ก็อาจจะต้องรอให้คนถึงจำนวนก่อนคอร์สจึงจะได้เปิด สำหรับคนที่สอบไม่ผ่านในวันปิดคอร์ส ก็ต้องรีบไปสอบซ่อม ถ้าสอบซ่อมผ่านเราก็ยังได้เรียนกับเพื่อนกลุ่มเดิมต่อ ไม่ต้องกลัวว่าสอบตกแล้วจะไม่ได้ไปต่อ สำหรับคนที่เคยเรียนที่อื่นมาก่อน ก็มาสอบวัดความรู้ก่อนจากนั้นก็จะได้ไปเรียนในคอร์สที่เหมาะสมต่อไป

อาจารย์ผู้สอน
เนื่องจากเวลาค่อนข้างเยอะต่อการมาเรียนแต่ละครั้ง ตั้ง4ชั่วโมง ส่วนตัวเราคิดว่าอ.สอนค่อนข้างช้า แต่มันก็ทำให้พื้นฐานของเราแน่นมากเช่นกัน ฉะนั้นที่นี่จึงน่าจะเหมาะสำหรับคนที่ไม่รีบเร่งด้านเวลา แต่อยากจะพื้นแน่นๆ อ.ที่นี่แต่ละคนคุณภาพมากๆ คะแนนให้ร้อยละ90ถือว่าอ.ที่นี่โอเคมากเลย แต่ข้อเสียคือเราไม่มีโอกาสลงเรียนกับอ.ที่ชอบได้เอง ต้องแล้วแต่เค้าจะจัดมาว่าคอร์สไหนจะได้อ.อะไร ฉะนั้นถ้าเรียนไปเรื่อยๆหลายๆคอร์สก็อาจจะได้เจอกับอ.เกือบทั้งโรงเรียนก็ได้ แต่เราโชคดีมากได้อ.ที่ชอบมากๆคนเดิมติดๆกันหลายๆคอร์ส ทำให้การไปเรียนทุกวันเสาร์คือความสุขที่ตั้งตารอคอย

สำหรับผู้โชคร้าย คอร์สแรกที่ลงเรียนอาจจะได้เจอกับอาจารย์ที่สอนน่าเบื่อสุดๆแล้วจะกลายเป็นไม่ชอบภาษาญี่ปุ่นไปเลยก็ได้ เพราะบางทีวันไหนที่อาจารย์ที่สอนเราไม่มา เราก็จะได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์คนอื่นๆที่มาสอนแทน ซึ่งบางทีคนที่มาแทนสอนแย่และเราไม่ชอบเลย แต่โชคดีที่ไม่เคยเรียนกับอ.ท่านนั้นทั้งคอร์ส

การสอบเลื่อนชั้น
เมื่อเราเรียนจนมาถึงวันสุดท้ายของคอร์สเราจะต้องสอบเพื่อเลื่อนไปเรียนชั้นต่อไป สำหรับผู้ที่ตั้งใจเรียน ทบทวนตลอดทุกๆวัน ข้อสอบจัดว่าอยู่ในระดับง่าย สอบยังไงก็ได้เกิน90% แต่ถ้าเวลาที่ทบทวนมีน้อย ก็อาจจะต้องท่องศัพท์และทบทวนมากหน่อยก่อนสอบ การสอบก็จะมีสอบกับอ.ไทยและอ.ญี่ปุ่น อ.ไทยก็สอบกระดาษ คือแกรมม่า เขียนคันจิ สอบฟัง ประมาณนี้ สอบอ.ญี่ปุ่นใช้เวลาสั้นๆ คนละไม่เกิน10นาที สอบinterview (ทีละคนข้างนอกห้อง บางทีก็ห้องข้างๆถ้าว่าง) จากสิ่งที่เรียนมาในคอร์สนั้นๆ ก็ไม่ยากมากถ้าเตรียมตัวมาดี จะมีพูดผิดกันบ้าง แต่อ.ส่วนใหญ่ก็จะไม่กดคะแนนมากนักในพาร์ทนี้

ส่วนที่ดีของที่นี่คือ ถ้าสอบได้คะแนนสูงที่สุดในห้องและคะแนนเกิน95% คอร์สถัดไปค่าเรียนจ่ายแค่ครึ่งเดียว เหมือนได้เป็นนักเรียนทุนเรียนดีประมาณนั้น (แต่ถ้าหากคนสูงสุดและเกิน95%มี2คน เค้าจะดูจากคะแนนการมาเรียน คนไหนมาเรียนมากกว่าคนนั้นก็จะได้ไป)

ค่าเรียน
เมื่อก่อนค่าเรียนที่นี่ถือว่าถูกมาก แต่เดี๋ยวนี้ปรับราคาขึ้นไปเท่าๆกับสถาบันอื่นละ เคยได้ยินผู้ใหญ่คนนึงเคยบอกว่าเมื่อ20ปีก่อนค่าเรียน500บาทเอง ฮ่าาา เดี๋ยวนี้ไม่มีละราคาแบบนั้น ถ้ามี คนคงมานั่งเรียนกันแน่นเต็มห้องแน่ๆ

สรุป
ถือเป็นอีกโรงเรียนที่แนะนำใครไปแล้วไม่ผิดหวัง ยกเว้นดันหวังไว้มากแล้วไปเจออ.ที่สอนไม่ดีที่มีเพียงส่วนน้อยมาก ถ้าไม่รีบเรื่องเวลาและต้องการพื้นฐานแน่นๆ ค่าเรียนพอประมาณไม่แพงไป สถานที่เรียนเดินทางไปได้สะดวก ที่นี่ก็น่าจะเหมาะสม แต่ถ้าเป็นคนชอบเร็วๆ เรียนไวๆ ได้N2ภายใน2ปีนับจากวันแรกที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ที่นี่คงตอบโจทย์นั้นได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสามารถในการเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาใดๆ ให้ได้ดีนั้น ก็คงต้องขึ้นกับตัวผู้เรียนด้วยว่าตั้งใจและขยันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเปิดหนังสือเรียนแค่เวลาที่ไปเรียนที่โรงเรียน ท่องศัพท์แค่ก่อนสอบ อยู่บ้านไม่เคยทบทวนอะไรเลยแม้แต่คันจิตัวเดียว ก็ควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่ามาเรียนทำไม ใครบังคับมารึเปล่า!?

Jun 8, 2014

ชีวิต

「一度きりの人生を大切に生きる」ใช้ชีวิตที่มีแค่ครั้งเดียวอย่างมีคุณค่า



เปิดด้วยประโยคสั้นๆสวยงามแต่กินใจในความหมาย ชีวิตของทุกๆคนต่างต้องเคยประสบกับอาการที่ว่า "กว่าเราจะเห็นคุณค่าของสิ่งใด เรามักจะสูญเสียสิ่งนั้นไปแล้ว" แม้เราคิดว่าขอเพียงโอกาสอีกครั้งที่จะไม่ทำผิดพลาดอีก ขอเพียงแต่ได้สิ่งที่สูญเสียไปแล้วนั้นกลับคืนมา จะดูแลให้ดีกว่าที่ทำเอาไว้ แต่เชื่อเถอะว่า เพราะพวกเราเป็นมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอและชอบทำผิดซ้ำสอง(ซ้ำสาม ซ้ำสี่ ฯลฯ) สุดท้ายเราก็จะสูญเสียมันไปอีกอยู่ดี ฉะนั้นอย่าเรียกร้องอะไรกลับมาเลย หากเรารู้ว่าเราจะดูแลมันได้ไม่ดีพอ

ชีวิตของคนเราทุกคนก็มีเพียงแค่ชีวิตเดียว หากหัวใจหยุดเต้นไปแล้วก็หมดโอกาสที่จะแก้ตัว ฉะนั้นเราต้องดูแลชีวิตเราให้ดีๆ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่ใช้ให้คุ้มอย่างที่หลายๆคนพูดกัน เคยมีคนๆนึงกล่าวว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนเครื่องมือ ไม่ได้มีค่าอะไรในตัวมันเอง หากเอามาสร้างสรรค์สิ่งดีก็เกิดประโยชน์ หากนำไปทำร้ายผู้อื่น มันก็เกิดโทษ หากปล่อยทิ้งไว้เฉยๆก็สนิมขึ้นและผุพังเงียบๆไปตามกาลเวลา ชีวิตจะมีคุณค่าหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับเราเองว่าจะเอาไปใช้ในลักษณะไหน

「明日のことは、明日にならないとわからない。わからないからこそ、生きている意味があるのかもしれない」
เรื่องของวันพรุ่งนี้ เราไม่มีทางรู้จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้ ก็เพราะว่าไม่รู้นั่นหล่ะ เราถึงต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป แล้วเราอาจจะได้รู้ความหมายของชีวิต